โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา เผย NCCN เครือข่ายความร่วมมือศูนย์มะเร็งชั้นนำในอเมริกา ให้แนวทางปฏิบัติล่าสุดเกี่ยวกับการรับวัคซีนในผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยให้เร่งรับวัคซีนโควิด-19 เร็วที่สุด เพราะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะแทรกซ้อน
นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อตั้งโดยร่วมลงทุนระหว่าง บริษัท โมเดอร์นฟอร์ม เฮลท์แอนด์แคร์ จำกัด (มหาชน) “MHC” กับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านมะเร็งรักษาและมะเร็งวิทยา กล่าวเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 ของผู้ป่วยมะเร็งว่า เครือข่ายความร่วมมือศูนย์มะเร็งชั้นนำในอเมริกา หรือ NCCN (National Comprehensive Center Network) ได้ให้แนวทางปฏิบัติล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะเทรกซ้อนจากการรับเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งผู้ดูแลและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยมะเร็ง ให้รีบรับวัคซีนทันที หรือเร็วที่สุด โดยสามารถรับวัคซีนได้ทุกชนิดที่มีอยู่ในขณะนี้ และไม่ควรรอวัคซีนเฉพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง
ผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงผู้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการรักษามะเร็ง เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น จึงไม่ควรรอวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง และควรฉีดวัคซีนทันที จากแนวทางปฏิบัติของ NCCN ยังได้แนะนำอีกว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรับเคมีบำบัด หรือกำลังรับการรักษาด้วยยาพุ่งเป้า และรังสีบำบัด ก็สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ทันทีที่สามารถทำได้ ยกเว้นผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนถ่ายสเต็มเซลล์ และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบําบัดควรต้องรอหลังการรักษาดังกล่าวอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะสามารถรับวัคซีนได้
“ด้านอาการข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยมะเร็งนั้น จากรายงานพบว่าไม่มีความแตกต่างจากอาการที่เกิดกับบุคคลทั่วไป เช่น หน่วงแขน อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดศีรษะ มีไข้ และมีอาการแพ้วัคซีนซึ่งพบน้อยมาก ทั้งนี้ หลังรับวัคซีน ทั้งผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ดูแลและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ยังคงต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันและเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 - 2 เมตร หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หรือหลังสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นใช้งานร่วมกัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น แออัด หรือพื้นที่ปิด” นายแพทย์ธนุตม์ กล่าวทิ้งท้าย.