วิโรจน์ ก้าวไกล ขยี้ปมเรือดำน้ำ หวด สุทิน มโนโกหกคำโตว่ากองทัพเรืออยากเเลกเป็นฟริเกต ซัดอ่านรัฐธรรมนูญไม่เเตก จี้นายกฯเคลียร์หมดสภาพไร้การนำ
วันที่ 21 พ.ย. 66 ที่รัฐสภา นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิสร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.การทหาร สภาฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. แถลงเรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนที่ยังมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ไม่เป็นไปตามสัญญา ตอนหนึ่งโดยยืนยันรัฐบาลให้เงิน กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำก็ทำหน้าที่ซื้อเรือดำน้ำให้ได้ ไม่มีหน้าที่ที่จะมาบอกว่าเปลี่ยนเป็นเรืออื่นว่า เป็นไปตามที่ กมธ.การทหารฯ ทราบมาก่อนแล้ว เคยเชิญผู้แทนกองทัพเรือกับกระทรวงกลาโหม ชี้แจงปมเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต ได้ยินมาตลอดว่ากองทัพเรือไม่ประสงค์เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต แต่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ยืนยันตลอดว่ากองทัพเรือต้องการ
เมื่อวานชัดแล้วว่ากองทัพเรือไม่ต้องการ รมว.กลาโหม กับผบ.ทร.ต้องเคลียร์กัน แต่ตนคิดว่า นายสุทินทำการบ้านมาน้อยเกินไป กมธ.เคยทำหนังสือถึงนายสุทินว่า มันเป็นสัญญาระหว่างประเทศ กรณีนี้ต่อให้นายสุทินจะอ้างว่าไม่ใช่สัญญาระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญไม่สนใจชื่อเรียก แต่แคร์ว่าผลของมันคืออะไร และกมธ.การทหารยืนยันว่า มันเป็นสัญญาระหว่างประเทศตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เข้าใจว่า ผบ.ทร.ก็ตระหนักและเราเคยทำหนังสือถึงท่านด้วย
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ ผบ.ทร.นำเรื่องไปหารือกับอัยการสูงสุด คลี่คลายปัญหาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ น่าผิดหวังนิดหนึ่งที่นายสุทิน ในฐานะ รมว.กลาโหม แม้ว่าจะไม่ได้ตอบว่าจะไม่นำเข้ารัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ แต่ในเนื้อหานายสุทิน เคยบอกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการต่างประเทศ เคยให้ความเห็นไว้ว่าในลักษณะแบบนี้ ไม่ใช่สัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นการอ่านรัฐธรรมนูญไม่แตก ไม่ได้เอากรณีเขาพระวิหาร และสัญญาขายข้าวจีทูจี มาเทียบเคียงเลย ตนสนับสนุนแนวคิด ผบ.ทร.ที่รอบคอบ
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ต้องเข้ามาเป็นตัวกลางหารือระหว่าง รมว.กลาโหม และผบ.ทร. มองไม่ตรงกัน ให้ข่าวก็ไม่ตรงกัน ตนย้ำว่าเรือฟริเกตมีศักยภาพสูง แต่เป็นเรือคนละคลาสกับเรือรบหลวงภูมิพล ซึ่งเป็นเรือฟริเกตที่เรามีอยู่ กองเรือนั้นต้องอยู่ในคลาสเดียวกัน ขีปนาวุธบนเรือต้องประเภทเดียวกัน อะไหล่บำรุงรักษา การควบคุมเรือต้องคล้ายคลึงกัน จึงบริหารจัดการกองเรือได้ง่าย หากเป็นคนละคลาสจะถูกตั้งคำถามอย่างใหญ่หลวงว่า จะสำรองอะไหล่อย่างไร เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดคือมันเป็นการตัดสินใจที่ขัดกับสมุดปกขาว ที่ทางกองทัพเรือเขียนเอาไว้เองด้วย ขัดกับยุทธศาสตร์ที่ตัวเองได้วางไว้ นายกฯจึงต้องมาเคลียร์ เพราะมันสะท้อนถึงสภาพที่ไร้การนำของรมว.กลาโหม สัญญาเรือดำน้ำจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2566 การตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร กับความเห็นที่ไม่ตรงกันจะต้องจบภายในเวลาดังกล่าว
เมื่อถามว่า เวลากระชั้นชิด แต่กองทัพเรือกับกลาโหม ยังเห็นไม่ตรงกันอยู่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ก็ยืนยันแล้วที่นายสุทินพูดมาตลอดว่า กองทัพเรือต้องการเรือฟริเกต นี้คือไม่จริง เป็นการมโนของนายสุทินเอง ถ้ากองทัพเรือต้องการแลกเป็นเรือฟริเกตจริง เราคงไม่ได้ยิน ผบ.ทร.ให้สัมภาษณ์อย่างนั้น ท่านไม่ให้ความเห็นว่าจะแลกเรือฟริเกตเลย ในเมื่อสภาฯอนุมัติภาษีประชาชนให้ซื้อเรือดำน้ำ สมมติว่าถ้าจะเปลี่ยนเป็นแบบอื่นจริงๆทาง รมว.กลาโหมกับผบ.ทร.ไม่ได้มีอำนาจ ในการอยู่ดีๆก็ทึกทักเปลี่ยนกันเอง ต้องดู พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณด้วย การเปลี่ยนวัตถุประสงค์แบบผิดฝาผิดตัว จากใต้น้ำมาอยู่บนน้ำ คงเปลี่ยนเองไม่ได้ ตนชื่นชม ผบ.ทร.ที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรัดกุม รอบคอบ ที่ทำหนังสือไปหารืออัยการสูงสุด
Advertisement