“อัจฉริยะ” หอบหลักฐานยื่น “โรม” สอบ “หมูเถื่อน-ส่งออกตีนไก่-เคลมภาษีน้ำมัน” บอกเอาตรง ๆ ไม่มีเกรงใจกัน ยันเอาผิดระดับผู้ใหญ่ได้ เผยข้าราชการ 3 กรมสารภาพหมดแล้ว ด้าน “โรม” งง “หมูเถื่อน” ทำไมยืดเยื้อ ทั้งที่เห็นแอคชั่นกันทุกฝ่าย
7 ธ.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางมาที่จุดรับหนังสือ สภาผู้แทนราษฎร โดยนำหลักฐานร้องเรียนมามอบให้นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ตรวจสอบใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต
โดยนายอัจฉริยะ กล่าวว่า เรื่องร้องเรียนที่ตนมายื่นในวันนี้มี 3 ประเด็นคือ
1) การลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน โดยมีข้าราชการระดับกรม 3 กรมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะโยงไปถึงนักการเมืองบางคน โดยถือว่าคืบหน้าไปมาก
2) การสวมสิทธิ์ส่งออกตีนไก่ไปยังประเทศจีน ซึ่งเกี่ยวพันกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3) การส่งออกน้ำมันไปยังเมียนมาและวนกลับมาจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีการขอคืนภาษีแบบผิดกฎหมาย 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทำมาแล้ว 6 ปี
นายอัจฉริยะ ย้ำว่า เรื่องนี้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจรวมถึงผู้ประกอบการและเกษตรกร ประเมินมูลค่าความเสียหายเป็นแสนล้านบาท
เมื่อถามว่าหลักฐานที่นำมาในวันนี้ สามารถเอาผิดอะไรได้บ้าง นายอัจฉริยะ กล่าวว่า สิ่งที่นำมามอบในวันนี้เป็นหลักฐานเบื้องต้น แต่หากวันที่กรรมาธิการเรียกชี้แจง ตนจะมีตัวบุคคลที่รับเงินใต้โต๊ะตั้งแต่ระดับล่างจนถึงอธิบดี และเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี ซึ่งตนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งหลักฐานเรื่องหมูเถื่อนและตีนไก่
เมื่อถามว่ามั่นใจว่าสามารถเอาผิดใครได้บ้าง นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ถ้าเอาแบบจริงจัง ไม่มีเกรงใจกัน ก็ถึงกันหมดทุกคน เพราะหลักฐานทิ้งร่องรอยด้วยเอกสาร คนทำชิปปิ้งก็ให้การรับสารภาพแล้ว รวมถึงมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมศุลกากรก็ให้การซักทอดไปถึงผู้ใหญ่หมดแล้ว ขณะนี้มีครบแล้ว
ขณะที่นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องยอมรับว่าเรื่องหมูเถื่อนเป็นเรื่องที่ใหญ่ บางคนอาจจะมองว่าเป็นแค่เรื่องหมูไม่น่าจะมีอะไร แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องหมูเถื่อนไม่ได้มีแค่การลักลอบนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงการบังคับใช้กฎหมายของเราว่ามีปัญหาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ หากเราไม่เอาผิดทางกฎหมายเราจะไม่มีทางรู้ว่าสินค้าทางการเกษตรที่เข้ามาสู่ไทยจะมีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยหรือไม่ ยังไม่นับว่าอาจจะมีคนที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมือง เป็นคนสำคัญของบ้านเมือง เป็นคนที่มีชื่อเสียงของบ้านเมือง อาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องอีกด้วย นอกจากนั้น ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรราคาหมูในประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรต่อไป
ดังนั้นเรื่องหมูเถื่อนจึงไม่ใช่แค่หมูเถื่อน แต่หมายความรวมถึงความหย่อนยานทางกฎหมาย ปัญหาทางสุขภาพ ปัญหาที่เกษตรกรอาจจะได้รับและอื่นๆอีกมากมาย เพราะฉะนั้นตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงจะเอาเรื่องนี้เข้าหารือในกรรมาธิการ เพื่อที่จะได้มีการประชุมและจะพิจารณากันต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ ขอบเขตของ กมธ.ความมั่นคงฯ ค่อนข้างกว้างครอบคลุมหลายเรื่อง เราสามารถพิจารณาประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศซึ่งเรื่องนี้หมูเถื่อน เมื่อพิจารณาแล้วอยู่ในส่วนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิบัติประเทศหรืออาจจะกระทบกระเทือนต่อกฎหมายเหล่านี้ เราก็สามารถที่จะบรรจุเข้าพิจารณาได้ แต่ตนก็ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเข้าในขอบเขตไหนบ้าง จึงขอไปพิจารณา และปรึกษากันในกรรมาธิการก่อน
ส่วนกระบวนการการตรวจสอบหมูเถื่อนนั้น ตนมองว่า เรื่องนี้ค้างมาเป็นเวลานาน ซึ่งความจริงตนก็คิดคล้ายๆ กับนายอัจฉริยะ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากและน่าจะสาวไปถึงตัวการคนสำคัญได้หมด คำถามอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ และแปลกใจว่าทำไมถึงยื้อกันนานขนาดนี้ถ้าเรื่องไปถึงระดับ DSI และความพยายามแสดงออกของฝ่ายต่างๆเรื่องนี้ควรจะจบได้แล้ว ถ้ามาถึงขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ ระบบกฎหมายของเราจะมีใครเชื่อถือ ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่การสาวคนที่เกี่ยวข้อง แต่เราต้องมานั่งคิดว่ามีเจ้าหน้าที่ใครบ้างที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก และก็จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่หมูเถื่อน ที่นายอัจฉริยะมายื่นในวันนี้ยังมีเรื่องตีนไก่ด้วย ก็ต้องตรวจสอบต่อไป ว่าจะมีใคร ที่จะเกี่ยวข้องกับกรณีนี้บ้าง ซึ่งเรื่องตีนไก่ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียด จึงขอศึกษาและพูดคุยกับกรรมาธิการ เพื่อหาข้อสรุปก่อน
ส่วนในช่วงปีที่แล้วที่มีการระบาดของโรคอหิวาตกโรคในหมู แล้วรัฐปิดบังประชาชนทำให้การตรวจสอบหมูเถื่อนยืดเยื้อนั้น นายรังสิมัน กล่าวว่า หลักการสำคัญคือต้องให้ทำให้ประชาชนมีข้อมูล ประชาชนจึงสามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นและรับมือและขั้นตอนต่อไปได้หากเกิดเหตุแบบนี้ แต่ปัญหาคือในช่วงเวลาที่มีโรคระบาด ประชาชนไม่รู้ว่าเจอกับอะไรและต้องรับมืออย่างไร ไม่ได้มีแผนสำรองมาตรการภาครัฐก็ไม่ชัดเจน
"กระบวนการเหล่านี้เหมือนปล่อยให้ประชาชนที่เป็นเกษตรกรอยู่บนเรือ แล้วปล่อยให้อยู่กลางทะเล จะอยู่อย่างไร จะไปรอดหรือเปล่า ไม่มีทางรู้ ดังนั้น สิ่งสำคัญเมื่อเกิดปัญหาที่เป็นวิกฤตภาครัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความจริงกับประชาชน อย่าไปกังวลว่าถ้าให้ข้อมูลไปแล้วจะมีผลกระทบในลักษณะที่มีความกังวลหรือไม่ เดี๋ยวจะมีผลกระทบต่อตลาดหรือไม่ บางครั้งหากมีวิกฤตเกิดขึ้นอย่าคิดว่าคนอื่น เขาไม่ทราบถ้าเราให้ข้อมูลกับประชาชนการเตรียมตัวต่างๆก็จะตามมาประชาชนก็จะได้รับมือได้นี่คือสิ่งที่ตนคิดว่าสำคัญและเป็นบทเรียนของกระทรวงเกษตรฯในรอบที่แล้ว ในการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆให้ทางทันท่วงที" นายรังสิมันต์กล่าว
เมื่อถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันธ์กับนายทุน มองว่าการตรวจสอบจะสาวไปถึงหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ถ้าสุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาจริงๆ คือการจัดการกับคนที่เรียกว่านายทุนหรือปลาตัวใหญ่ของเรื่องนี้ ถ้าไม่มีการจัดการไปถึงระดับนั้น สุดท้ายก็เป็นแค่การตัดตอน คำถามคือวันนี้เริ่มหมูเถื่อนจะจบแบบไหนจบแบบตัดตอน หรือสุดท้ายเป็นการแก้ปัญหาจริงๆที่จะนำไปสู่การทำให้การบังคับใช้กฎหมายของเราไม่หย่อนยานแบบที่ผ่านมา นี่คือสิ่งที่สำคัญ
Advertisement