ทวี ชี้ เงื่อนไขพักโทษ ไม่มีข้อห้ามเคลื่อนไหวการเมือง บอก ทักษิณ รายงานตัวกรมคุมประพฤติตามปกติ ไม่ห่วง สส. นำมาเป็นประเด็นอภิปราย 152 ก่อนย้อนเกล็ด สว.ส่วนหนึ่งเป็นสนช. แก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เอง โอดตนเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ ยึดตามรัฐธรรมนูญ
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย จะทำให้เป็นประเด็นทางสังคม และเป็นเป้าทางการเมืองในการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ว่า คงเป็นการอภิปรายคล้ายกับ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. แต่อาจจะมีเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า
ส่วนจะทำให้สังคมเคลือบแคลงใจหรือไม่ พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า ปกติเราจะดูแค่หลักเกณฑ์การคุมประพฤติ การพักโทษก็อยู่ในเรื่องของโทษของกรมราชทัณฑ์ ยังอยู่ในเงื่อนไขของการเป็นนักโทษ เพราะกรมราชทัณฑ์จะไปลดโทษให้ใครไม่ได้ แต่มีกระบวนการเรียกว่าการบริหารโทษ การพักโทษหรือการใช้ที่คุมขังอื่น ในกฎหมายกรมราชทัณฑ์และกฎกระทรวง พร้อมกับมองว่าโรงพยาบาลเป็นที่คุมขัง ซึ่งนักโทษเมื่อไปนอนที่โรงพยาบาล เราก็หักจากการต้องโทษ แต่ถ้าหากถามนักโทษอยู่โรงพยาบาลกับเรือนจำ นักโทษอยากอยู่เรือนจำมากกว่า อยู่โรงพยาบาลสภาพลำบาก เหมือนเราไปอยู่โรงพยาบาล ส่วนการเคลื่อนไหวอื่น ๆ กรมคุมประพฤติมีข้อห้าม คือห้ามไปมั่วสุมยาเสพติด และห้ามไปเยี่ยมนักโทษด้วยกัน ส่วนเรื่องอื่นๆมีสิทธิและเสรีภาพ โดยกรมคุมประพฤติมีหน้าที่ควบคุมดูแล
ส่วนการที่นายทักษิณ เดินทางไปพบสมาชิกพรรคเพื่อไทยวันนี้ จะผิดเงื่อนไขการพักโทษหรือไม่พันตำรวจเอกทวี เลี่ยงที่จะตอบคำถาม พร้อมระบุว่ากรมคุมประพฤติให้มารายงานตัว จะไปไหน ไปพบใครไม่เกี่ยว และในกฎกระทรวง ไม่ได้เขียนเงื่อนไขการพักโทษว่าห้ามเกี่ยวข้องกับการเมือง
เมื่อถามย้ำว่ากรณีนายทักษิณ มีการตั้งข้อสังเกตถึงมาตรฐานของขบวนการยุติธรรม จะชี้แจงต่อสังคมอย่างไร พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญบอกให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากทำนอกกฎหมายถือเป็นการทำตามอำเภอใจ อย่างที่ตนพูด การถูกกฎหมายต้องพยายามพัฒนากฎหมาย ในบางช่วงที่ออกมาก่อน จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นใหม่ จะต้องมีการแก้ไขอย่างเช่นกฎหมายราชทัณฑ์ ซึ่งหากดูจริง ๆ กฎหมายของกรมราชทัณฑ์ เกิดจากสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เป็นผู้ร่าง ในปี 2559 และมีการประชุมถึง 21 ครั้ง จน 1ธันวาคม 2559 ออกมาเป็นกฎหมายราชทัณฑ์ ปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่นำกฎหมายลูกมาใส่ ซึ่งภายหลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น มาออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งเดิมถ้าออกเป็นแพ็คเกจใหญ่จะเป็นการคิดในห้องแอร์เกินไป ผู้ปฏิบัติอาจจะลำบาก ถึงแยก เช่น การรักษาพยาบาล หรือการไปที่คุมขังอื่น หรือการพักโทษ เป็นขั้นตอนไป พร้อมยืนยันว่า กฎหมายถูกร่างมาโดย สนช. และเป็นกฎหมายที่เกิดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งตนก็มาปฏิบัติตาม หากดูดี ๆ คนราชทัณฑ์แทบไม่มีอำนาจ เช่นการพักโทษ ก็มีคณะกรรมการพักการลงโทษ มีปลัดกระทรวงยุติธรรม และมีข้าราชการอื่น รวมถึงจากศาลยุติธรรม เป็นคณะกรรมการ
พันตำรวจเอกทวี ยังกล่าวอีกว่า ถ้าเรายอมรับกติการัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าปฏิบัตินอกกฎหมายเราถือว่าไม่ใช่หลักนิติธรรม
เมื่อถามว่ากรมราชทัณฑ์จะเตือนนายทักษิณ ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยลงเนื่องจากถูกสังคมจับจ้อง พันตำรวจเอกทวีกล่าวว่าเราเคารพในความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี กระทรวงยุติธรรมคงไม่มีหน้าที่ไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว นอกจากภารกิจหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ
ส่วนที่ผ่านมามีนักการเมืองที่ถูกพักโทษเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับนายทักษิณหรือไม่พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า คนพักโทษแต่ละปีมีเป็นหมื่น แต่อาจจะไม่มีสื่อฯไปตาม ซึ่งมองว่าจากรายงานที่กรมคุมประพฤติส่งมาเมื่อคืนนี้ นายทักษิณก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกอย่าง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าหนักใจหรือไม่ ทักษิณมีการเคลื่อนไหว เดินทางในหลายพื้นที่ ซึ่งถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พันตำรวจเอกทวีกล่าวว่า อยากให้สังคมแยกส่วน กระทรวงยุติธรรมไม่ได้หนักใจ เมื่อวานนี้ครบ 133 ปีกระทรวงยุติธรรม ที่เราจะมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนทุกคนได้รับความยุติธรรมถ้วนหน้า ซึ่งคำว่ายุติธรรมอาจเป็นนามธรรมเกินไป ต้องทำตามรัฐธรรมนูญกฎหมายที่บัญญัติไว้ก่อน ส่วนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรมก็ต้องแก้ไข แต่ในที่สุดก็ต้องให้สภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นงานสภาที่มาจากผู้ที่ถูกแต่งตั้ง โดยเฉพาะคนในสภาเมื่อวานส่วนใหญ่ก็เป็นคนร่างฯ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับนี้ทั้งหมด
Advertisement