เปิดขั้นตอน เลือกนายกฯคนที่ 31 ใครจะเป็นคนต่อไป มีบุคคลในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกฯ ของพรรคการเมืองรวม 5 พรรค 7 คน
วันนี้ (14 ส.ค.67) ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมถึงฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และทำให้รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ดังนั้น ครม.ชุดปัจจุบันจะกลายเป็น ครม.รักษาการ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ จะทำหน้าที่ รักษาการนายกฯ
จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกนายกฯคนใหม่ ในรัฐสภา ตามมาตรา 159 โดยนัดประชุมสภาฯ ให้สภาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล มาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้มีชื่ออยู่ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ กับ กกต.โดยเลือกเฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจํานวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน หรือ มี ส.ส. 25 คนขึ้นไป
ทั้งนี้ แคนดิเดตนายกฯ ที่อยู่ในบัญชีนายกฯ ตั้งแต่ช่วงของการเลือกตั้งปี 2566 ปัจจุบันมีบุคคลในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกฯ ของพรรคการเมืองรวม 5 พรรค 7 คน ดังนี้
1.พรรคเพื่อไทย 2 คน ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ
2.พรรคภูมิใจไทย 1 คน ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย
3.พรรคพลังประชารัฐ 1 คน ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
4.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 2 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สส.บัญชีรายชื่อ รักษาการ รมว.พลังงาน
5.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 1 คน ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรค
โดยการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในรัฐสภา ตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาฯ
Advertisement