วันนี้ (21พ.ย.67) นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม แถลงข่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเชิญให้ไปให้ถ้อยคำและข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกส่งตัวไป พักรักษาตัวในระหว่างต้องโทษที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงอยากชี้แจงว่าทุกภาคส่วนมีหน้าที่ตามกฎหมาย ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องให้ความร่วมมือ ในสิ่งที่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่แต่ละองค์กร ในสภาผู้แทนราษฎรมีการตรวจสอบเรื่องนี้ มายังกระทรวงยุติธรรม ของคณะกรรมาธิการรวม 2 ชุด ก็คือคณะกรรมาธิการตำรวจ ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งให้ทางกรมราชทัณฑ์ ไปให้ข้อเท็จจริง ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ในครั้งนั้นนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็ได้ยกคณะไปชี้แจง และก็ได้นัดหมายครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม 2567 ไปดูสถานที่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และถือว่าเรื่องนี้มีการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการตำรวจ
ต่อมาคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ก็มีหนังสือ ให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องของกรมราชทัณฑ์ไปชี้แจง และส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ครั้งแรกในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ และคนอื่นๆไปชี้แจง
ต่อมาคณะกรรมการชุดนี้ ก็มีหนังสือ เชิญตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง ต่อคณะกรรมการชุดนี้ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.67) จึงอยากจะชี้แจงว่า กระทรวงยุติธรรมมีความ ไม่สบายใจ ซึ่งจริงๆอยากจะให้ความร่วมมือเต็มที่กับคณะกรรมาธิการชุดนี้ ซึ่งถือว่าทำหน้าที่สอบในฐานะตัวแทนราษฎร แต่เมื่อเราพิจารณาอำนาจหน้าที่ และกรอบกฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมของสภาฯ ระเบียบการประชุมของสภาฯ กรมราชทัณฑ์ เห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ที่จะมาตรวจสอบหรือรวบรวมเรื่องราวหรือเชิญเจ้าหน้าที่เราไป
ดังนั้นเมื่อทางกรมราชทัณฑ์ ได้รับหนังสือ ทางผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ จึงได้มีหนังสือ ไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ถึงคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ทุกท่าน ในข้อห่วงใยและกังวลในข้อกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระเบียบการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ตนได้สอบถามทางด้านกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งขอสำเนาเอกสารมาพิจารณา ก็ขอสรุป ในระยะเหตุผล ที่กรมราชทัณฑ์ไม่เห็นพร้อมด้วยโดยเห็นว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ของกัณฑ์มัทธาธิการชุดนี้มีอยู่ 3 เรื่อง
เหตุผลที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ 2560 มาตรา 129 วรรค 2 กำหนดให้คณะกรรมาธิการ กระทำการสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมาธิการของสภาฯ มีหลายชุด แต่ละชุดจะมีการกำหนดกรอบและหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ 2562 ข้อ 90 วงเล็บ 9 กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ไว้ว่า คณะกรรมาธิการมีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษา เรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ช่องทางธรรมชาติ และช่องทางตามกฎหมายศุลกากร การเดินทางข้ามแดน การจัดการและการดูแลแรงงานข้ามแดน การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหา และการพัฒนาชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนและแก้ไข ปัญหาเกี่ยวกับดินแดน และความมั่นคง ของประชาชน ซึ่งนี่คือกรอบอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ สรุปก็คือ เรื่องที่คณะกรรมาธิการชุดนี้ เชิญไปให้ข้อเท็จจริง ไม่ได้อยู่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้
เหตุผลที่ 2 การดำเนินการเรื่องนี้เป็นการซ้ำซ้อน กับคณะกรรมาธิการชุดอื่น ของสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 วรรค 2 กำหนดว่า ในการกระทำกิจการ ของคณะกรรมการ ต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนกรณีเรื่องใดที่มีความเกี่ยว ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯ จะต้องดำเนินการให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกชุดร่วมกันดำเนินการ ข้อบังคับการประชุมสภา 90 วรรค 4 และระเบียบสภาผู้แทนราษฎรมีความชัดเจนก็คือว่า หลักเกณฑ์และวิธีการทำกิจการเพื่อพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงและศึกษาเรื่องใด ที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ 2562 สภาผู้แทนราษฎรมีระเบียบไว้โดยเฉพาะว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันอาจจะเกี่ยวพันกับคณะหลายกันกรรมาธิการ จะต้องมีการรวมเรื่องและพิจารณาเป็นคณะเดียวกัน
ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมาธิการตำรวจ ได้มีการเชิญกรมราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และเดือนมกราคม 2567 ก็ ได้เชิญไปตรวจสอบสถานที่จริงแล้วก็ถือเป็นการตรวจสอบ ดังนั้นคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ที่ทำเรื่องนี้จึงถือว่าเป็นการทำซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 129 วรรค 2 ข้อบังคับการประชุมสภา ระเบียบการประชุม
เหตุผลที่ 3 ในรายละเอียดของหนังสือยังได้พูดถึง ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรอิสระ เช่นป.ป.ช. ก็ไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีการเชิญเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ไปให้ปากคำ มีการขอเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็มีการไปดูข้อเท็จจริงสถานที่เกิดเหตุแ ละมีความเห็นไว้ในเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็มีการทำความเห็นเรื่องนี้ไว้ กรมราชทัณฑ์มีความเห็นว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คุณให้โทษ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดำเนินการอยู่แล้ วและระหว่างพิจารณาดำเนินการ เพราะฉะนั้นการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการซึ่งเราให้ความสำคัญและให้ความเคารพและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือถ้าหากมันถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะต้องควรคำนึงถึงว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ อยู่แล้ว
ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการชุดนี้ทุกท่านไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ (20พ.ย.67)
ส่วนคำถามที่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเดินทางไปให้ข้อเท็จจริงต่อกรรมาธิการชุดนี้หรือไม่ นายสมบูรณ์ บอกว่า "ผมทราบความกังวลของท่านรัฐมนตรี ซึ่งท่านรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่องาน ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาผู้แทนราษฎร มีอะไรท่านจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ผมทราบดีเพราะว่าทำงานร่วมกับท่านในฐานะที่ปรึกษามาตลอดช่วงที่ ท่านเป็นรัฐมนตรี เรื่องนี้ท่านก็กังวลเหมือนที่กรมราชทัณฑ์กังวล ว่าขณะนี้ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับและระเบียบหรือไม่ ส่วนท่านจะไปพบคณะกรรมการหรือไม่ท่านก็ยังไม่ให้คำตอบผม และผมก็ยังไม่ได้ไปถามท่านตรงๆว่าท่านจะไปหรือไม่แต่รู้ว่าท่านกังวลในเรื่องนี้"
เมื่อนักข่าวถามว่า ที่ไม่ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ เป็นเพราะมีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธานกรรมาธิการหรือไม่ นายสมบูรณ์ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่ยอมรับว่าเมื่อมีหน่วยงานตรวจสอบ ก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา
Advertisement