เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดวันจัดพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ พระลานพระราชวังดุสิต ซึ่งถือเป็นการจัดพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ในรอบ 9 ปี โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการกระทำเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์
และครั้งนี้เองถือเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ที่มีการกระทำพิธีนี้ต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์ และถือว่าเป็นการกระทำพิธีครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 10
การนี้ พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงนำการสวนสนามของทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และทหารรักษาพระองค์ 3 เหล่าทัพ ในตำแหน่ง "องค์ผู้บังคับกองผสม" พลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงร่วมสวนสนาม ทรงม้านำขบวนกองพันทหารม้ารักษาพระองค์ ในตำแหน่ง "องค์ผู้บังคับกองพันทหารม้ารักษาพระองค์"
ทั้งนี้ กำลังพลสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ครั้งนี้ จำนวน 11 กองพัน ประกอบด้วย พลสวนสนามจากกรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ กรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ กองพันทหารอากาศโยธิน 3 กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองพันทหารม้าที่ 25 กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 102 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และกองพันทหารม้ารักษาพระองค์
สำหรับในพิธีนี้ พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะเป็นผู้นำกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล แล้วกล่าวนำทหารรักษาพระองค์ทุกนายถวายสัตย์ปฏิญาณตน ด้วยถ้อยคำ ดังนี้
"ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ... (เอ่ยชื่อตัวเอง) ... ขอถวายคำสัตย์ปฏิญาณต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจักยอมตายเพื่อรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักจงรักภักดี และถวายความปลอดภัยต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจนชีวิตหาไม่ ข้าพระพุทธเจ้าจักเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ของทหารรักษาพระองค์ ทั้งจักปฏิบัติตนให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกประการ พระพุทธเจ้าข้าขอรับ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ"
นอกจากนี้ ความสำคัญของพิธีสวนสนามและการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ประกอบด้วย
1. แสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนไทย
2. ส่งเสริมการสร้างความสามัคคีที่ทหารจากหน่วยต่าง ๆ จะได้มาร่วมกันแสดงความพร้อมและความสามัคคี เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพไทย
3. ส่งเสริมวินัยและความพร้อม แสดงความมีระเบียบวินัยและการฝึกฝนอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการส่งเสริมความพร้อมและความสามารถของทหารในการปฏิบัติหน้าที่
4. สร้างแรงบันดาลใจ ให้กับเยาวชนและประชาชนในการรักษาความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมและประเทศชาติ และ
5. เสริมสร้างภาพลักษณ์ของกองทัพ การแสดงความสามารถและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของกองทัพไทยให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในสายตาของประชาชนและนานาชาติ
Advertisement