วันที่ 26 ธ.ค.67 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช.พร้อมด้วยตัวแทนสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และญาติผู้สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้ไต่สวนหาผู้กระทำความผิดและคืนความยุติธรรมให้ประชาชน
โดยนายณัฐวุฒิ ระบุว่า ตนมาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ได้ร่วมชะตากรรม ได้ร่วมรู้สึกกับพี่น้องที่ต่อสู้ทางการเมืองเมื่อปี 2553 ตลอดจนญาติและครอบครัวผู้สูญเสีย กรณีนี้เรามาเรียกร้องให้ดีเอสไอดำเนินการตามตัวบทกฎหมาย ไม่ได้มากดดันให้กระทำการใดๆ นอกเหนือจากกฎหมายบัญญัติไว้ การเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าวรวม 99 ราย ได้มีการไต่สวนสาเหตุการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีการไต่สวนไปแล้วในชั้นศาล 31 ราย โดย 17 ราย ศาลชี้ว่าประชาชนเสียชีวิตจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ ส่วนอีก 14 ราย ศาลระบุว่าไม่สามารถระบุชี้ชัดว่าเสียชีวิตจากบุคคลกลุ่มใดหรือผู้ใดเป็นผู้กระทำ โดยขณะนี้ยังคงค้างอีก 68 ราย ที่ยังไม่ได้มีการไต่สวนสาเหตุการตายโดยศาล
อย่างไรก็ตามการไต่สวนดังกล่าวยุติลงอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตรงกับวันรัฐประหารครั้งล่าสุด ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีการไต่สวนสาเหตุการตายโดยศาลมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านไปญาติและครอบครัวผู้สูญเสียและตนพยายามติดตามประสานงานกับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในชั้นนี้มีกรมสอบสวนคดีพิเศษตำรวจนครบาล และทราบว่ามีการหารือภายในของ 2 หน่วยงานก่อนหน้านี้ เพื่อที่จะตรวจสอบว่าสำนวนคดีต่างๆ หรือขั้นตอนทางคดีอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรใด จนได้ข้อยุติว่าขณะนี้สำนวนคดีทั้งหมดมารวมอยู่ที่ดีเอสไอแล้ว
หากเรายืนยันความประสงค์ที่จะเดินหน้าตามกฏหมายต่อไปจะต้องมาตั้งต้นดีเอสไออย่างที่ทำกันวันนี้ โดยตัวแทนของผู้เสียชีวิตเป็นคนมายื่นเรื่อง โดยหลังจากนี้รอให้ทางดีเอสไอทำงานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยพวกเราจะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การไต่สวนสาเหตุการตายแล้วเริ่มต้นอีกครั้งหลังจากหยุดไป 10 ปี และการไต่สวนสาเหตุการตายที่ยังคงค้างอยู่คงเป็นเรื่องใหญ่ที่มีรายละเอียดขั้นตอนพอสมควร จึงได้มีการประสานงานสมาคมทนายทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะให้มาช่วยเป็นแม่งานอีกแรงเพื่อดำเนินการทำทางกฎหมายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยได้มีการประชุมเก็บข้อมูลก่อนหน้านี้และนำมาสู่การยื่นหนังสือต่อดีเอสไอ ตนหวังใจ ความยุติธรรมจะมาถึงผู้สูญเสียโดยที่สุด
ตนขอเรียนถึงประชาชนและฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายว่าเราไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นกระแสทางการเมือง ไม่ได้มาทำเพราะมีเจตนาเคืองแค้น อาฆาตเฉพาะตัวหรือเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือกลุ่มผู้สูญเสีย แต่ต้องการชี้ชัดว่ากฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร ต้องการให้ขั้นตอนเป็นไปตามกฏหมาย อยากให้ผู้เสียชีวิตในกรณีนี้ได้รับสิทธิ์ได้รับโอกาสจากกระทรวงยุติธรรมเทียมเท่าผู้สูญเสียในกรณีอื่นๆ ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีข้อยุติอย่างไรเราก็เคารพและจะดำเนินการตามนั้น ไม่มีความประสงค์จะสร้างพื้นที่เผชิญหน้าทางการเมืองหรือสร้างวิวาทะใดๆ เพราะผู้สูญเสียก็ผ่านความเจ็บปวดมากพอแล้ว และสังคมนี้ก็มีบาดแผลจากความขัดแย้งมาเกินพอ และยังเป็นแผลอักเสบถึงในปัจจุบันที่ความขัดแย้งในความคิดทางการเมืองยังมีให้เห็น ตนจึงขอนำเรื่องนี้ออกจากบรรยากาศความขัดแย้งในปัจจุบัน ขอให้เป็นกระบวนการทางกฎหมาย เป็นกระบวนการของศาล และเป็นกระบวนการระหว่างผู้สูญเสียกับกลไกรัฐที่จะทำให้ความยุติธรรมเดินหน้าเท่านั้น
และอีกส่วนคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ที่มีการนำมาทบทวนใหม่ โดยขณะนี้ร่างดังกล่าวผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชนไปแล้ว แต่มีเนื้อหาบางส่วนมีการแก้ไขเพิ่มเติม ได้รับการตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งโดยขั้นตอนต้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรอง ขณะนี้เรื่องเดินไปถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรากำลังติดตามความคืบหน้าเชื่อว่าในเดือนมกราคม 2568 จะผ่านขั้นตอนดังกล่าว และหวังว่าจะถูกบรรจุเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด
ส่วนถามว่ามีมั่นใจในคดีนี้กี่เปอร์เซ็นต์ ตนคงไม่กล้าพูด แต่เราไม่เคยสิ้นหวัง เพราะเรายังอยู่ด้วยความคาดหวังญาติผู้เสียชีวิต โดยหวังใจว่าในรัฐบาลปัจจุบัน เรื่องนี้จะเดินหน้าที่สำคัญไปสู่ความยุติธรรมได้มากกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่วันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 ที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่เดินหน้าไปไหน เมื่อมีการเลือกตั้ง ปี 66 มีการจัดตั้งรัฐบาลก็มีการติดตามพอสมควรว่าแต่ละเรื่อง แต่ละคดี แต่ละสำนวน ไปมาอย่างไร อยู่ตรงไหน จนที่สุดมาถึงตรงนี้เรามองว่าทางไปต่อสำนวนเรื่องราวต่างๆ มารวมอยู่องค์กรนี้ก็สามารถจะนับหนึ่งได้ที่ดีเอสไอ
พร้อมย้ำว่าการมาวันนี้ไม่ใช่มารื้อคดี เพราะคดีนี้ไม่ใช่การยุติ แต่เป็นการเก็บไว้ไม่เดินต่อ หากไปพูดถึงการรื้อแสดงว่าเรายอมรับว่าเรื่องจบไปแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่เคยจบ แต่หยุดนิ่งโดยไม่มีคำอธิบาย แต่มีนัยยะที่สำคัญทางอำนาจว่าหลังการรัฐประหารนั้นไม่มีความเคลื่อนไหว และอีกอย่างคือไม่อยากใช้คำว่ารื้อคดีเพราะจะกลายเป็นว่าพวกเรามาทำให้ความขัดแย้ง ซึ่งขณะนี้คุกรุ่นกันอยู่ จะไปเพิ่มบรรยากาศการทางการเมืองหรือไม่ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นเรื่องยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น
นายณัฐวุฒิ ระบุด้วยว่า สำหรับการเยียวยากับคดีอาญานี้เป็นคนส่วนกัน ซึ่งการเยียวยาดำเนินการไปเสร็จสิ้นในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่คดีอาญายังไม่มีข้อยุติ จึงต้องดำเนินการต่อ ทั้ง 2 เรื่องนำมาอธิบายรวมกันไม่ได้ และสิ่งที่เรากำลังพยายามทำกันนอกจากจะหาความยุติธรรมให้ผู้ที่สูญเสีย ยังเป็นการอย่างสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนและเยาวชนต่อไปในอนาคต หากมีความขัดแย้งทางความคิดและการเคลื่อนไหวทางมวลชนจะได้มีเครื่องเตือนใจ มีสิ่งบอกเหตุให้กับผู้มีอำนาจว่าคดีความ กระบวนการยุติธรรมจะทำหน้าที่ ไม่มีใครปฏิเสธหรือหันหลังให้ความรับผิดชอบเรื่องนี้ได้ ดังนั้นทั้งการเดินหน้าของคดีและการแก้กฎหมายให้สิทธิ์ผู้เสียหายฟ้องตนได้ในกรณี ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลหรืออัยการไม่สั่งฟ้อง เพื่อสร้างความคุ้มครองและหลักประกันให้กับคนรุ่นต่อไปด้วย
เมื่อถามว่าเป็นการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อหวังเรียกคะแนนจากในช่วงเลือกตั้งนายกอบจ.จากคนเสื้อแดง ที่ถูกสีอื่นตกใส่หรือไม่ นายณัฐวุฒิ ระบุว่า ไม่เกี่ยว เพราะเรื่องนี้เป็นบาดแผลที่เกิดขึ้น 10 กว่าปี ที่เรามายื่นหนังสือวันนี้เพราะทุกอย่างเห็นว่าเดินหน้าได้จริง ไม่ใช่เรื่องคะแนนนิยม ไม่ใช่เรื่องเรื่องนายกอบจ.หรือเลือกตั้งครั้งถัดไป พี่น้องเสื้อแดงวันนี้ที่อยากสนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็ดี แต่หากไม่สนับสนุน และไปสนับสนุนพรรคใด ตนก็เคารพเพราะเป็นสิทธิ์เสรีภาพโดยชอบ โดยเรื่องนี้ไม่ได้แลกมาด้วยคะแนนเสียง เพราะเป็นเรื่องที่เราต่างรู้สึกร่วมกันมา และจะทำให้ถึงที่สุดอย่างที่ควรทำเท่านั้น จึงเชื่อว่าคนเสื้อแดงวันนี้ไม่ว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองไหนคงไม่ปฏิเสธเรื่องแบบนี้
Advertisement