วันที่ 28 ธ.ค. 67 นาย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี แบงค์ เลสเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ดังเสียชีวิตว่า ขอแสดงความเสียใจกับคุณยายของแบงค์ เลสเตอร์ ที่สูญเสียหลานรักไป ตนเองได้ให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน(ศรส.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่ากรณีของ แบงค์ เลสเตอร์นี้ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง พม. อย่างไร
ในเบื้องต้นทราบว่า เขาถือเป็นคนพิการ ซึ่งออกให้โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) และในส่วนคุณยายขณะนี้ตนเองได้ให้กระทรวง พม. ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดูว่ามีด้านใดบ้างที่กระทรวง พม. สามารถสนับสนุนได้เพิ่มเติม อาทิ เบี้ยผู้สูงอายุ การปรับปรับปรุงที่พักอาศัย หรือสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง
“ผมอยากให้กรณีของ แบงค์ เลสเตอร์ เป็นกรณีสุดท้าย เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่กรณีนี้คนเดียว แต่เชื่อว่ามีอีกหลายต่อหลายคนที่พิการด้านสติปัญญา คล้ายกันแบบนี้แล้วก็โดนใช้เป็นเหยื่อ ต้องใช้คำว่าเป็นเหยื่อของคนบางกลุ่ม หรือคนบางคนที่หวังหาประโยชน์ หวังหารายได้ผลประโยชน์ส่วนตัว จากความพิการของคนอื่น ขอพรสังคมว่า ในช่วงปัจจุบันนี้การทำคอนเทนท์มีรายได้เป็นกระแสที่สำคัญ ใครก็อยากทำคอนเทนท์ แต่ขอความกรุณาว่าอย่าเอาความพิการมาหากินแบบนี้“ นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า การหากินแบบอื่นโดยใช้ความพิการมีอีกเยอะเช่น ผู้ที่มีความสามารถอย่างอื่น ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้สนับสนุนเรื่องการมีบัตรผู้มีความสามารถ จะแสดงดนตรี หรือมีความสามารถพิเศษใดๆ สามารถมาทดสอบได้ที่กระทรวง พม. เพื่อขอมีบัตรผู้มีความสามารถได้ ดังนั้นการไปเอาเปรียบคนที่พิการด้านสติปัญญาแบบนี้ โดยให้ทำอะไรแปลกๆ หรือเห็นเขาเป็นเหยื่อของความสนุกสนาน ขอให้เลิกเสีย เลิกพฤติกรรมเหล่านี้ ตนเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อาจจะไม่ได้เป็นข่าว ไม่ได้เป็นคอนเทนท์ในโลกโซเชียลมีเดีย ก็ขอให้หยุดเสีย เพราะคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่ควรจะได้รับการสนับสนุน และที่สำคัญหากคนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนโดยถูกวิธีแล้วเขาจะเป็นกำลังที่สำคัญของสังคมอีกมาก
”ใครที่หาประโยชน์จากคนพิการแบบนี้ คุณนั่นแหละคือคนพิการของสังคม คุณเป็นคนที่ทำให้สังคมไทยกำลังพิการ คุณกำลังเป็นตัวถ่วงของสังคม ขอให้หยุดการกระทำเช่นนี้ ผมได้มอบแนวทางกระทรวง พม. ไปดูว่าในมิติของกระทรวง สามารถฟ้องร้องเอาผิดอย่างไรได้หรือไม่ ถ้าทำได้ผมทำอย่างเต็มที่ เพราะการกระทำเช่นนี้ ไม่มีใครรับได้ ขอให้เห็นใจคนพิการ อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง อย่าทำตัวเป็นภาระของสังคม คนพิการเขาไม่ใช่ภาระของสังคม แต่ในทางกลับกันคนที่ไปทำเช่นนี้คุณนั่นแหละคือภาระของสังคม และตัวถ่วงทำให้สังคมไทยนั้นก้าวเดินไปข้างหน้า“ นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเช่นนี้ พฤติกรรมที่เอาเปรียบคนพิการ พฤติกรรมที่คนพิการโดนเอาเปรียบ ขอให้โทรศัพท์มาแจ้งที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน(ศรส.) โทร สายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
Advertisement