วันที่ 7 ม.ค. 68 นาย คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. .... ซึ่งปัจจุบันทางหลวงสัมปทานมีเพียงสายเดียวคือ ทางหลวงสัมปทานหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดินแดง - อนุสรณ์สถาน) และไม่มีกฎหมายกำหนดอัตราความเร็ว สำหรับยานพาหนะที่วิ่งบนทางหลวงสัมปทานไว้เป็นการเฉพาะ
มีเพียงกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็ว สำหรับการขับรถในทางเดินรถ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปในลักษณะกฎหมายกลางที่กำหนดความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถไว้ จึงยังไม่เหมาะสมกับลักษณะของทางหลวงสัมปทาน ส่งผลให้การจราจรบนทางหลวงสัมปทานเกิดความไม่คล่องตัวเท่าที่ควรและมักเกิดกรณีการกระทำความผิดที่ผู้ขับขี่ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงมีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวความสะดวก และความปลอดภัยในสัญจรบนทางหลวงดังกล่าว
นายคารม กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสัมปทาน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายสำหรับการกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสัมปทานที่สอดคล้องกับการใช้ความเร็วที่เหมาะสมบนทางสัมปทาน ดังนี้
1 กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสัมปทานตามประเภทของยานพาหนะ ดังนี้
1.1 รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบัน ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
1.2 รถขณะที่ลากจูงรถอื่น หรือรถยนต์สี่ล้อเล็ก ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบัน ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
1.3 รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบัน ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
1.4 รถอื่นนอกจากข้อ 2.1.1 ถึงข้อ 2.1.3 ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบัน ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
2 กำหนดให้รถที่อยู่ในช่องเดินรถช่องขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น (ปัจจุบันไม่มีกำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถ พ.ศ. 2564)
Advertisement