เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 13 ก.พ. 68 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จำนวน 2 ร่างของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ก่อนเข้าสู่วาระ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายในฐานะตัวแทนพรรคว่าวาระที่กำลังจะพิจารณาขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยจึงขอไม่เข้าร่วมพิจารณา จากนั้น สส.พรรคภูมิใจไทยได้เดินออกจากห้องประชุมทันที
ก่อนที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา จะเสนอญัตติขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ถูก สส.พรรคประชาชนทักท้วงว่ายังไม่ได้รับเอกสารญัตติดังกล่าว นายวันมูหะมัดนอร์ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่แจกเอกสารแก่สมาชิก ก่อนสั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อให้วิป 3 ฝ่ายหารือร่วมกัน
ต่อมาเวลา 10.13 น. การประชุมร่วมรัฐสภาเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยนายวันมูหะมัดนอร์ แจ้งที่ประชุมว่า ตนขออาศัยข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 32 (1) และ (5) เพื่อรับเรื่องที่นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.กับคณะ ส่งมาเมื่อเช้านี้(13 ก.พ.) ซึ่งข้อบังคับข้อ 32 ไม่ต้องเสนอส่งเป็นหนังสือก่อนหนึ่งวันได้ ถ้าถือว่าเป็นเรื่องด่วนและ (5) คืออำนาจหน้าที่ของประธานว่าจะอนุญาตให้บรรจุได้ แต่ขั้นตอนต่อไปตนจะอนุญาตให้นพ.เปรมศักดิ์ เสนอญัตติก่อนแต่ไม่ได้หมายความว่าจะอภิปราย ซึ่งเสนอเพื่อให้เข้าใจเป็นญัตตินี้
หลังจากนั้นตนก็จะถามกับที่ประชุมว่าจะขออนุญาตให้เอาเรื่องญัตติขอให้หนังสือที่นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติอื่นๆ ที่บรรจุไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นมติที่ประชุมถ้าเห็นว่าควรจะเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนก็จะเริ่มกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาซึ่งนพ.เปรมศักดิ์ ก็ได้เสนอไปแล้ว
ขั้นตอนต่อไปคือสมาชิกท่านใด จะขออภิปรายก็มาเสนอชื่อได้ตามสมควร และจะมีมติว่าให้ส่งหรือไม่ส่ง ถ้าส่งก็ดำเนินการตามมติที่ส่ง ส่วนเรื่องต่อไปก็อาจจะต้องพักเรื่องการพิจารณารัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราเคยปฏิบัติมาแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่
จากนั้น สส.และสว.ได้อภิปรายทั้งเห็นด้วยว่าควรเลื่อนญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาก่อน ขณะที่บางส่วนไม่เห็นด้วย
ต่อมาเวลาา 11.20 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ 275 ต่อ 247 ไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ขึ้นมาแทนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1
จากนั้น ปรากฏว่า นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ลุกแจ้งต่อประธานว่าไม่เห็นด้วยกับการที่มีการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันนี้ ก่อนจะขออนุญาตออกจากห้องประชุมทันที โดยมีกลุ่ม สว.สีน้ำเงินลุกออกจากห้องประชุมทันที ไม่เว้นแต่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งด้วย ขณะที่กลุ่ม สส. พรรคเพื่อไทย จากที่นั่งประชุมก็ลุกขึ้นมาจับกลุ่มหารือกลางห้องประชุมด้วยท่าทีเคร่งเครียด
ต่อมา นางนันทนา นันทวโรภาส สว. ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่าบรรยากาศที่ห้องประชุมสะท้อนภาพลักษณ์ของวุฒิสภา เราทำอะไรกันอยู่ เมื่อโหวตลงมติแล้วมติเป็นเช่นไรทำไมไม่ยอมรับมตินั้น ทำไมจึงบอกว่าถ้าแพ้มติวอล์คเอาท์เดินออก นี่เป็นมติของสมาชิกรัฐสภา และก่อนลงมติก็อภิปรายอย่างกว้างขวางกว้าง จบสิ้นขบวนความแล้วเหตุใดผลไม่ถูกใจวอล์คเอาท์
“ดิฉันมองว่าสิ่งนี้เป็นภาพลักษณ์ที่พินาศของรัฐสภาแห่งนี้ นี่คือสถานที่ที่เป็นที่รวมของผู้แทนปวงชน และทำไมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ไม่ยอมรับกติกานี้ ทำไมไม่ให้เดินไปตามกระบวนการเป็นไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ตามที่ประธานรัฐสภาบรรจุด้วยมือของท่านเอง และทุกคนก็มาอภิปรายให้เหตุผลว่าแก้ รัฐธรรมนูญไปทำไม”
หลังจากที่ประชุมเถียงกันนานกว่า 20 นาที ที่สุด นพ.เปรมศักดิ์ ได้เสนอให้นับองค์ประชุม โดยในระหว่างนับองค์ประชุม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชน ได้ขอให้ประธานตรวจสอบเครื่องกดบัตรแสดงตน เพราะมีการลงชื่อเพียง 180 คน ในขณะที่ สส. พรรคเพื่อไทยมี 140 คน ขณะที่สส.พรรคประชาชนมี 140 คน เช่น เหตุใดรวมกันจึงมีเพียง 180 คน ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคไทยลุกขึ้นประท้วงว่าขออย่าพาดพิงพรรคเพื่อไทย การแสดงตนเป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่ละคน จึงขอให้นายพริษฐ์ ถอนคำพูด
ทำให้นายพริษฐ์ ลุกขึ้นชี้แจง และระบุว่าถ้าอย่างนั้นก็ขอให้เป็นความเห็นส่วนตัวของสส. ไม่ใช่การแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทย
ด้านนายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันจุดยืนพรรคพื่อไทยว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จบังเกิดผล ไม่ใช่เสนอให้แก้แต่ไม่ผ่าน ดังนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้อยากให้ร่างตกไปและไม่สามารถนำกลับเข้ามาได้ง่าย ซึ่งวันนี้ดูแล้วว่าหากลงมติต่อไปร่างนี้ก็จะตก จึงขอยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นิจิฉัยการแก้ไขจะมีประโยชน์ หากศาลพิจารณาว่าดำเนินการได้ค่อยมาพิจารณาต่อ วันนี้จึงเห็นด้วยกับนพ.เปรมศักดิ์ แต่เมื่อมติไม่ชนะ เราก็รู้อีกว่าหากเดินไปก็ต้องตกอีก เรียนตรงๆว่าไม่อยากให้ตก จึงอยากขอใช้วิธีให้ร่างนี้ค้างอยู่ในสภาฯ เพื่อตั้งหลักแล้วมาสู้กันต่อไป เพราะฉะนั้นการจะเป็นองค์ประชุมหรือไม่เป็นวิธีการขอเราให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้สำเร็จ ไม่ใช่ดันแต่จะแก้แล้วตกแล้วไปฟ้องประชาชน ทำให้นายพริษฐ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ใครยื่นร่างกฎหมายใดก๋อยากจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์
จากนั้นนายวิโรจน์ ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่าสามารถช่วยประธานแก้ไขปัญหาได้ ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปที่โรงอาหาร เพราะตอนนี้เสียงตะเกียบ ช้อน ชาม เพียบ
จนท้ายที่สุดหลังที่ประชุมถกเถียงกันไปมากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ประธานในที่ประชุมไม่อนุญาตให้ใครอภิปรายหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติม ก่อนจะประกาศการนับองค์ประชุม มีเพียง 204 คน จากเมื่อช่วงเช้ามีสมาชิกลงชื่อเข้าร่วมการประชุม 650 คน ซึ่งถือไม่ครบองค์ประชุม ประธานจึงประกาศให้เลิกการประชุม และนัดใหม่อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ เวลา 09.30 น. ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.00 น.
Advertisement