วันที่ 13 ก.พ.68 ภายหลังจากที่ประชุมร่วมรับสภา ในวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ล่ม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้นำ สส.ของพรรค แถลงข่าวแสดงจุดยืนทันที
โดยนายณัฐพงษ์ ยืนยันว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่เต็ม ในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ม.256 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้ระบุว่าชัดเจนว่าสามารถเดินหน้าแก้ไขมาตรานี้ได้ในทันที แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยข้อสงสัย จะวินิจฉัยเฉพาะการทำหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดผลขึ้นแล้ว
ซึ่งที่ประชุมร่วมสภาในวันนี้ได้มีมติแล้วว่าจะไม่เลื่อนญัตติการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความขึ้นมาพิจารณาก่อน และจะเข้าสู่การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ม.256 แต่กลับมาก่อนเสนอนับองค์ประชุม
ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า มีสมาชิกรัฐสภานั่งอยู่ในห้องประชุมมากกว่าจำนวนองค์ประชุม สะท้อนให้เห็นว่าเพื่อนสมาชิกจากบางพรรคการเมือง โดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลไม่กดแสดงตน ทั้งที่นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมจะร่วมเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ ส่วนตัวจึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะควบคุมเสียงของฝั่งรัฐบาลเอง เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนราษฎร นั่งอยู่ในห้องประชุมด้วยจะช่วยควบคุมเสียงได้ และการพิจารณาในวันนี้ก็จะสามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้
นายณัฐพงษ์ นะบุว่า อยากส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรี ให้กำกับดูแลเสียงของฝั่งรัฐบาลให้เข้าร่วมรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง การจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็ควรจะเปิดให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาก่อน แล้วค่อยตัดสินใจก่อนการลงมติอีกครั้งก็ได้ ไม่ควรตัดอำนาจตัวเองถึงขนาดไม่ให้เพื่อนสมาชิกอภิปรายในประเด็นนี้เลย
ซึ่งเหตุการณ์ในวันนี้แสดงให้เห็นถึงการตกลงกันไม่ได้ และรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นในวันพรุ่งนี้จะเป็นโอกาสที่นายกฯ จะแสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำในการควบคุมเสียงของพรรคร่วม แม้ว่าในรายละเอียดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางหมวดนั้นสามารถพูดกันได้ในวาระที่ 2 ยังไม่ใช่วาระสำคัญในวาระที่ 1 สามารถรับหลักการก่อนได้
“ไม่อยากให้มองว่าการเมืองของคนดี คนร้าย คนชั่ว คนเลว แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประเทศที่ตกอยู่ในหลุมดำของการรับผิดรับชอบ เราต้องการคนที่มีความกล้าที่จะใช้อำนาจของตัวเอง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เราเห็นคือการเสนอญัตติ เพื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ทั้งที่มีอำนาจอยู่แล้ว แต่กลับต้องถามศาลรัฐธรรมนูญว่ามีอำนาจหรือไม่ เพื่อทำตามคำแนะนำ สะท้อนให้เห็นว่าไม่กล้าใช้อำนาจตัวเอง เพราะไม่กล้ารับผิดชอบต่อการใช้อำนาจของตัวเอง”
Advertisement