(1 เม.ย. 68) ที่อาคารอนาคตใหม่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ฝ่ายกิจการพิเศษ ร่วมแถลงข่าวแนะนำคณะทำงานติดตามประเด็น และประมวลข้อเสนอต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและตึกถล่มต่อรัฐบาล
โดยในส่วนของ ณัฐพงษ์ ระบุว่าตนขอแสดงความต่อใจต่อทุกการสูญเสียที่เกิดขึ้น รวมถึงขอส่งกำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนครอบครัวและญาติที่กำลังติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดในภารกิจกู้ชีพจากเหตุตึก สตง. ถล่ม พรรคประชาชนมีภารกิจหนึ่งเดียวในช่วงภัยพิบัตินี้ คือการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐทุกส่วนให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
โดยตั้งแต่เกิดเหตุวันศุกร์ที่ผ่านมา นอกจากการไปติดตามเหตุที่หน้างานแล้ว ตนยังได้สั่งการไปยังเครือข่ายคณะทำงานจังหวัดของพรรคประชาชนและ สส.พรรคประชาชนในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ให้มีการรวบรวมปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อนำมาประสานงานต่อให้เกิดความทั่วถึง จนเป็นที่มาที่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้มีการเปิดเว็ปไซต์ earthquake.peoplesparty.or.th เพื่อแสดงผลให้เห็นว่ามีประชาชนในพื้นที่ใดบ้างทีได้รับผลกระทบอยู่ทั้งประเทศขณะนี้
ณัฐพงษ์ยังกล่าวต่อไปว่าในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ภารกิจที่พรรคประชาชนได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนคือการเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยอาคารมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตต่อในการเข้าพักอาศัยได้ ด้วยการเข้าสำรวจอาคารเบื้องต้นกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเติมเต็มในพื้นที่ปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็นนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมจัดตั้งคณะทำงานที่ วิโรจน์ ได้รับมอบหมายภารกิจและมีการลงมือทำไปแล้วบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเตรียมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของอาคารและคน และข้อเสนอต่อมาตรการในระยะยาวที่ทุกคณะทำงานเตรียมข้อมูลมาเพื่อสื่อสารให้เกิดความชัดเจน
ในส่วนของวิโรจน์ ระบุว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในภารกิจนี้คือการใช้ความเป็นผู้แทนราษฎรในการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคลี่คลายความกังวลและความสับสนของประชาชนโดยเร็ว รวมถึงเข้าถึงสิทธิและการเยียวยาจากภาครัฐและภาคประกันภัยอย่างรวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรม โดยคณะทำงานของพรรคประชาชนประกอบด้วยหลายภารกิจ คือ
1) การสำรวจอาคารซึ่งมี พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้ติดตามความคืบหน้าในภารกิจนี้ ตามที่พรรคประชาชนได้ร่วมกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยในการสำรวจอาคารที่พักอาศัยเบื้องต้นให้ประชาชนในพื้นที่ปทุมธานี นนทบุรี สมทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งมีประชาชนแจ้งเข้ามาที่เว็บไซต์ของพรรค อย่างไรก็ตามการตรวจสอบอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารที่เป็นที่ชุมนุมคน อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด โรงแรม โรงงาน สถานบริการ ป้ายบิลบอร์ดต่างๆ มีความจำเป็นต้องให้วิศวกรโครงสร้างที่เป็นผู้ออกแบบ หรือวิศวกรโครงการซึ่งเป็นผู้ควบคุมงาน หรือวิศวกรที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ตรวจรับงาน ในการตรวจรับอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
วิโรจน์กล่าวต่อไปว่าการตรวจอาคารเหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดและจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกต้อง จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการพักอาศัยและการใช้อาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือโรงพยาบาล ซึ่งการตรวจสอบอย่างเป็นทางการทั้งหมดนี้จะทำให้ประชาชนไม่เกิดความแตกตื่นหรืออาการตื่นตระหนกในอนาคต ที่สำคัญที่สุดรัฐต้องไม่ลืมอาคารที่พักอาศัยของประชาชนที่มีรายได้จำกัด เช่น อาคารสงเคราะห์และบ้านเอื้ออาทร โดยเฉพาะอาคารที่มีการก่อสร้างมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้วด้วย
2) การทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐตาม มาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยในกรณีเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งพรรคได้มอบหมายให้ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 พรรคประชาชน เป็นผู้รับผิดชอบ หลังเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลุล่วงแล้ว ศุภณัฐและ สส.พรรคประชาชนจะเร่งประสานงานกับ กทม. ถึงหลักเกณฑ์ แบบฟอร์ม และขั้นตอนต่างๆ ในการขอรับการเยียวยา และจะช่วยประสานให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วที่สุด อีกเรื่องที่สำคัญในแพ้กันคือการเร่งประสานกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับการชดเชยเยียวยาจากบริษัทประกันภัยอย่างเป็นธรรม รวมถึงอาจมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษี การออกมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับซ่อมแซมที่พักอาศัย และการเข้าไปกำกับควบคุมราคาวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของแรงงาน พรรคประชาชนได้มอบหมายให้ เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้ติดตามภารกิจนี้ โดยเฉพาะในกรณีไซต์ก่อสร้างอาคาร สตง. ที่พบว่ามีการจ้างงานในรูปแบบเหมาช่วงเป็นจำนวนมาก ต้องมีการสำรวจโดยละเอียดว่ามีจำนวนคนงานในพื้นที่จริงกี่คน สูญหายกี่คน ซึ่งทางคณะทำงานค้นพบเพิ่มเติมในเบื้องต้นว่ามีลูกจ้างจำนวนไม่น้อยที่นายจ้างไม่ได้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคมให้ ต้องมีการติดตามว่ารัฐบาลจะดูแลเยียวยาแรงงานในส่วนนี้อย่างไร เปิดโอกาสให้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์และการเยียวยาตามกฎหมายประกันสังคมได้หรือไม่ โดยเฉพาะการดูแลแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง
3) การตรวจสอบและข้อสงสัยต่างๆ ในกรณีอาคาร สตง. พรรคประชาชนได้มอบหมายให้ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้ตรวจสอบในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ อย่างละเอียด ทั้งในเรื่อง TOR การประมูลจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารสัญญา การออกแบบอาคาร การควบคุมการก่อสร้าง และการใช้วัสดุต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรัดกุม รอบคอบ และใช้หลักวิศวกรรมเป็นหลัก โดยไม่ทิ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือการด่วนสรุป ซึ่งอาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ในการเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยได้
4) การตรวจสอบทุนต่างชาติที่เข้ามากินรวบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไทย พรรคประชาชนได้มอบหมายให้ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ติดตามตรวจสอบต่อไปว่ามีการใช้นอมินีคนไทยเข้ามาถือหุ้นแทนบริษัทจีนหรือบริษัทต่างชาติใด และมีการเข้ามาทำธุรกิจที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการชาวไทยหรือไม่ ทั้งการนำเข้าวัสดุก่อสร้างราคาถูกคุณภาพต่ำ การตัดราคา และการทุ่มตลาด
5) กรณีเซลล์บรอดแคสต์ พรรคประชาชนได้มอบหมายให้ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้ติดตามในเรื่องนี้เพื่อให้มั่นใจว่าภายในเดือนกรกฎาคม 2568 ประเทศไทยจะมีระบบเซลล์บรอดแคสต์แจ้งเตือนในกรณีภัยพิบัติหรือสาธารณภัยที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที หรือหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนก็จะมีการติดตามว่ารัฐบาลจะใช้ระบบหรือช่องทางอื่นใดในการเตือนภัยพิบัติไปพลางก่อน
6) ที่สำคัญมากคือการวางแผนรับมือภัยพิบัติในระยะยาว ซึ่งมีความจำเป็นต้องบูรณาการทั้งระบบราชการและระบบงบประมาณทั้งหมด ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาชนจะเป็นผู้ติดตามกรณีดังกล่าวเอง
ในส่วนของณัฐพงษ์ได้สรุปการแถลงในส่วนของข้อเสนอแนะ โดยระบุว่าความเชื่อมั่นของปรระชาชนจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการตั้งระบบบริหารจัดการภัยพิบัติรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง เพื่ออย่างน้อยให้รัฐบาลสามารถมองเห็นในภาพรวม เพราะต้องยอมรับว่ายังมีประชาชนอีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตปริมณฑลและจังหวัดต่างๆ ที่มีส่วนของอาคารที่ได้รับผลกระทบด้วย ประชาชนอยากได้ความชัดเจนในเรื่องของการติดตามความคืบหน้าว่าจะได้รับความช่วยเหลือหรือการตรวจอาคารทั้งในเบื้องต้นและแบบทางการ รวมถึงการชดเชยเยียวยาเมื่อใด
ทั้งนี้ ตนขอชื่นชมการทำงานของหลายภาคส่วนในระยะที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและทาง กทม. ที่ได้ดำเนินการบางส่วนไปแล้ว เช่น ในกรณีของ กทม. ที่มีการใช้ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ในการบริหารจัดการ ตลอดจนการแถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์จากผู้ว่า กทม. เป็นระยะ
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่าสิ่งที่พรรคประชาชนอยากเห็นคือการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเช่นนี้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์เป็นระบบที่พร้อมใช้โดยไม่ต้องมีการติดตั้ง รัฐบาลสามารถเริ่มใช้ระบบนี้ในทุกจังหวัดได้ทันที นายกรัฐมนตรีสามารถสื่อสารโดยตรงไปยังประชาชนทั่วประเทศได้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนในหลายจังหวัดยังมีความสับสนอยู่ไม่น้อยจากช่องทางรับเรื่องที่ไม่เหมือนกันของภาครัฐ ประกอบกับระบบการบริหารจัดการในปัจจุบันยังมีลักษณะต่างคนต่างทำอยู่บ้าง ทำให้ส่วนกลางอาจไม่ได้เห็นภาพรวมทั้งหมด ส่วนช่องทางอื่นๆ ทั้งคอลเซ็นเตอร์ เช่น 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็ยังจำเป็นที่จะต้องเปิดให้ประชาชนแจ้งเรื่องได้ต่อไปสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการแจ้งเรื่องผ่านแอปพลิเคชันไลน์
ส่วนข้อเสนอในระยะยาว จำเป็นต้องมีการบูรณาการข้อมูลในการจัดการภัยพิบัติร่วมกัน เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุภัยพิบัติได้อย่างดียิ่งขึ้นต่อไป ทั้งการรับมือในระยะสั้นคือการตรวจอาคารเบื้องต้นและการตรวจอย่างเป็นทางการ และในระยะกลางคือการรับเงินชดเชยเยียวยาทั้งจากประกันภัยและหน่วยงานของรัฐ จะมีข้อมูลที่บูรณาการกันมากขึ้น
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่าสุดท้ายคือการรับมือในระยะยาว ยังมีอาคารอีกหลายแห่งที่ก่อสร้างก่อนกฎกระทรวงปี 2550 ว่าด้วยการก่อสร้างอาคารเพื่อให้รองรับแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหว การมีข้อมูลบูรณาการจะทำให้มองเห็นภาพรวมทั้งหมด อย่างน้อยสามารถวางแผนในระยะยาวเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหวในครั้งต่อไปได้ รัฐบาลจะมีตัวเลขที่ชัดเจนให้ประชาชนรับทราบว่าอาคารไหนบ้างที่จะต้องมีการเสริมแรงตามหลักวิศวกรรมเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
“สิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่น ทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติ อย่างน้อยควรมีการสื่อสารว่ารัฐบาลดูแลอยู่ และรัฐบาลมีช่องทางใดให้ประชาชนสามารถติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที อีกสิ่งสำคัญคือความโปร่งใส ต้องยอมรับว่าตอนนี้มีข้อสงสัยจากหลายภาคส่วนเกี่ยวกับเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม การเปิดให้เข้าตรวจเป็นก้าวแรกที่ดี แต่ขั้นตอนต่อจากนี้จนได้ข้อสรุป กระบวนการทั้งหมดต้องมีความโปร่ง สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้” หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าว
Advertisement