นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดภูเก็ต เขต 2 พรรคประชาชน โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ด้วยข้อความระบุว่า ไชน่า เรลเวย์ กับอาคาร กฟภ. ภูเก็ต
ผมคิดว่าวันนี้เป็นที่ชัดเจนพอแล้วว่าบริษัทสัญชาติจีน ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ที่เป็นข่าวรับงานสร้างตึก สตง. ที่ถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีปัญหาความไม่ชอบมาพากลทั้งเรื่องการใช้นอมินี การไม่ดำเนินการตามมาตรฐานการก่อสร้าง และกฎหมายของประเทศไทย
เรื่องของเหล็กก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้มาตรฐาน และเชื่อมโยงได้กับประเด็นที่มีการพูดถึงมานานแล้ว คือเรื่องที่ทุนจีนทุ่มตลาดเหล็กในประเทศไทย นำเข้าเหล็กมาดัมพ์ตลาด ตั้งโรงงานเหล็กในประเทศไทยมาผลิตแข่ง ฟีดให้บริษัทจีนที่เข้ามารับงานในประเทศไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญที่ทุนจีนเข้ามารุกเรา และวันนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเหล็กเหล่านั้นมีปัญหา
สิ่งที่เป็นคำถามในเวลานี้คือเหล็กพวกนี้ถูกส่งไปในงานก่อสร้างที่ไหนบ้าง ในโครงการอะไรบ้าง? หากเราโฟกัสไปที่บริษัทเจ้าปัญหา ไชน่า เรลเวย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐานจากแหล่งเดียวกัน เราก็คงต้องสืบตามดูว่าบริษัทเจ้าปัญหาแห่งนี้ไปทำการก่อสร้างอะไรที่ไหนไว้อีกบ้าง?
สืบไปสืบมาวันนี้เรารู้แล้วว่าอย่างน้อยหนึ่งแห่งคือโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการลูกค้า และอาคารสำนักงาน อาคารอบรมสัมมนา ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ภูเก็ต มูลค่า 210 ล้านบาท
ดำเนินการก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า AKC ระหว่าง บริษัท อัครกร ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด สัญญาเลขที่ จ.ป.10/2564 ลงวันที่ 25 มกราคม 2564 กำหนดระยะเวลาเสร็จใน 450 วัน เริ่มต้นสัญญา 18 กุมภาพันธ์ 2564 ครบกำหนดสัญญา 13 พฤษภาคม 2565 ควบคุมการก่อสร้างโดย กองจัดจ้างและก่อสร้างงานโยธา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ซึ่งโครงการนี้ที่ผ่านมายังมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ค้างจ่ายค่าแรงและจ้างเหมาช่วงแรงงานในปี 2565 จนเป็นคดีความที่ศาลพิพากษาแล้วว่ามีการค้างจ่ายจริง และให้นายจ้างชำระค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้แรงงานข้ามชาติให้เรียบร้อย
โครงการนี้จะมีปัญหาโครงสร้างตึกเหมือนกับตึก สตง. หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องมีการตรวจสอบต่อไป อย่างน้อยสิ่งที่เราทราบแล้วคือโครงการนี้มี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ที่สร้างตึก สตง. จนถล่มเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนก่อสร้าง
ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลนี้จะนำไปสู่การตรวจสอบโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนี้ รวมทั้งโครงการอื่นๆ ที่ไชน่า เรลเวย์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในอนาคตอย่างละเอียดต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง และการใช้งบประมาณของรัฐไทย
Advertisement