Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดปมเหล็กตกมาตรฐาน ต้นเหตุตึก สตง. ถล่ม?

เปิดปมเหล็กตกมาตรฐาน ต้นเหตุตึก สตง. ถล่ม?

3 เม.ย. 68
15:38 น.
แชร์

เหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ได้สร้างความสะเทือนใจและก่อให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางในสังคมไทย เนื่องจากอาคารดังกล่าวเป็นสถานที่ราชการที่สำคัญ และการพังถล่มของอาคารได้นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

 

นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบความโปร่งใสและมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคาร สตง. ซึ่งมีการตั้งคำถามถึงกระบวนการประมูลงานก่อสร้างและการควบคุมคุณภาพวัสดุการก่อสร้าง

 

 จนนำไปสู่การตรวจสอบคุณภาพเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง. จากผลการตรวจสอบพบว่าเหล็กบางส่วนไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหล็กขนาด 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่ามาตรฐานและมีค่าความยืดหยุ่นผิดปกติ

 

การตรวจสอบเหล็กดังกล่าว ดำเนินการโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยมีการนำตัวอย่างเหล็กจากซากอาคารที่เกิดเหตุมาตรวจสอบทั้งหมด 28 ชิ้น จาก 7 ประเภท ประกอบด้วย

 

1.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น

2.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น

3.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น

4.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น

5.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น

6.เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น

7.ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น

และผลปรากฏว่ามีเหล็ก 13 ชิ้น จาก 2 ประเภทไม่ได้มาตรฐาน

 

จากการตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ผลิตเหล็กที่ใช้ในอาคาร สตง. มี 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัททาทาสตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS (เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย)

 

ขณะที่เหล็กบางส่วนยังคงผ่านมาตรฐาน อย่างไรก็ตามการพบเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานนี้ก็เพียงพอที่จะสร้างความกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยของอาคาร สตง. ได้

 

ในส่วนของเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นหมายถึงเหล็กที่มีองค์ประกอบเคมีและคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในอุตสาหกรรม เช่น สัดส่วนของคาร์บอนหรือธาตุชุบแข็งอาจสูงหรือต่ำเกินไป ส่งผลให้เหล็กมีความแข็งสูงแต่เปราะและขาดความยืดหยุ่นในการรับแรงกระแทกหรือแรงสั่นสะเทือน

 

ซึ่งในสถานการณ์ที่มีแรงกระแทกอย่างฉับพลัน เช่น แผ่นดินไหวหรือการชนกัน เหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐานอาจหักแตกเป็นท่อน ๆ แทนที่จะโค้งงอเพื่อดูดซับแรง เพื่อช่วยในการลดการเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างอาคาร

 

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า แต่ยังเป็นบทเรียนสำคัญที่กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต

Advertisement

แชร์
เปิดปมเหล็กตกมาตรฐาน ต้นเหตุตึก สตง. ถล่ม?