ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เช็กลิสต์ 14 จังหวัด เป็นพื้นที่ "แอ่งดินอ่อน" เสี่ยงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหว แต่ลักษณะความเสี่ยงของกรุงเทพฯ นั้นแตกต่างจากของเมืองอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวชุกชุม ความเสี่ยงจึงมิไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวในระยะใกล้ แต่กลับเป็นผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะไกล ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ เสี่ยงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวสูงเป็นเพราะตั้งอยู่บริเวณ "แอ่งดินอ่อน"
แอ่งดินอ่อนไม่ได้ขยายคลื่นพลังงานจากแผ่นดินไหวในทุกย่านความถี่ แต่ขยายเฉพาะบางความถี่ คือ ในช่วงความถี่ต่ำหรือว่าเป็นค่าการสั่นยาวๆ ประมาณ 1-3 วินาที ซึ่งเรียกว่า "การสั่นสะเทือนแบบคาบยาว" คือสั่นสะเทือนแบบช้าๆ ใช้เวลาครบรอบอาจจะประมาณ 2 วินาที ซึ่งคลื่นลักษณะนี้จะมีผลต่ออาคารสูง แต่ไม่ค่อยมีผลต่ออาคารขนาดเล็ก โดยอาคารขนาดกลางในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากแผ่นดินไหวขนาด 7 อาคารขนาดสูงในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 8.5
ด้าน ศาสตราจารย์ ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Structural Mechanics and Structural Dynamics ระบุว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวจากระยะไกลบ่อยครั้ง เนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวถูกขยายกำลังในแอ่งดินอ่อนที่มีความลึก ซึ่งลักษณะพื้นที่นี้เป็นที่ราบที่มีชั้นดินตะกอนดินเหนียวอ่อนและมีความหนามากบนแผ่นดินตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรียกว่า "ดินเหนียวกรุงเทพฯ" เป็นแอ่งดินขนาดใหญ่ (Soil basin) ลักษณะธรณีวิทยาแบบนี้มีคุณสมบัติขยายความรุนแรงแผ่นดินไหวได้
เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นคลื่นพลังงานที่วิ่งมาตามธรณี เมื่อเข้าไปในแอ่งนี้ คลื่นจะทะลุออกไม่ได้แต่จะเกิดปรากฏการณ์สั่นพ้องไปมา (Basin resonance) ทำให้เกิดการสะสมพลังงานอยู่ในแอ่ง เป็นการขยายคลื่นแผ่นดินไหวในแอ่งดินอ่อน (Basin amplification) เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งแผ่นดินไหวอยู่ไกลประมาณ 300-400 กิโลเมตร แต่เมื่อคลื่นพลังงานเคลื่อนที่มาถึงแอ่งลักษณะนี้ส่งผลให้กรุงเม็กซิโกซิตี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก อาคารถล่มจนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10,000 คน
แอ่งดินอ่อนกรุงเทพฯ ไม่ได้ครอบคลุมแต่เพียงกรุงเทพฯ แต่เพียงจังหวัดเดียว แต่กินพื้นที่ครอบคลุมกว่า 14 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นนทบุรี นครปฐม นครนายก เพชรบุรี ปราจีนบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ชลบุรี ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ผลตอบสนองของพื้นจากแบบจำลองชั้นดินและคลื่นแผ่นดินไหวพบว่า บริเวณที่พื้นดินแข็ง เช่น ในจังหวัดเพชรบุรีนครนายก และชลบุรี จะมีกำลังขยายคลื่นแผ่นดินไหวไม่มาก (ประมาณ 2-3 เท่า) แต่สำหรับพื้นที่ดินอ่อนจะมีกำลังขยายมากกว่า เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ ที่มีกำลังขยายแผ่นดินไหวมากถึง 5.5 เท่า ส่วนพื้นที่แถบกรุงเทพฯ จะมีกำลังขยายคลื่นแผ่นดินไหวประมาณ 3-4 เท่า ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้ได้นำไปสู่แนวทางการพิจารณาปรับปรุงค่าที่กำหนดในมาตรฐานการออกแบบสิ่งปลูกสร้างให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
แผ่นดินไหวจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑลโดยรอบ การเตรียมพร้อม โดยเฉพาะการออกแบบอาคารสิ่งปลูกสร้างใหม่ให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวได้ และการประเมินความเสี่ยงของอาคารที่มีอยู่เดิม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จากปัจจัยเสี่ยงของที่ตั้งที่มีลักษณะเป็นแอ่งดินอ่อนที่สามารถขยายกำลังแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่า
Advertisement