สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมแถลงข่าวถึงกรณีตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมแนะนำวิธีการรับมือหากมีเหตุแผ่นดินไหวในอนาคต
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ระบุว่า เหตุที่ตึก สตง. ถล่มลงมา จะสังเกตได้ว่ามีหลายสาเหตุ เช่น เสาชลูดชั้นล่างหักที่บริเวณกลางเสา เสาชลูดชั้นบนหัก รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาดในแนวดิ่ง และ การพังที่เกิดจากปล่องลิฟต์ วิเคราะห์สาเหตุได้ว่า อาจเกิดจากแบบ และการออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง คุณภาพวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ได้แก่ คอนกรีต เหล็กเส้น และ แรงแผ่นดินไหว แต่จากการวิเคราะห์ทั้งหมดยังไม่ด่วนสรุปสาเหตุที่แท้จริง จะต้องรอผลจากคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่อีกครั้ง
แต่จากเหตุแผ่นดินไหว เท่าที่เข้าไปตรวจสอบ พบรอยร้าว 95% ที่ไม่ได้เกี่ยวกับโครงสร้างใดๆ แต่เกี่ยวกับผนังอิฐมวลเบา และเกิดจากฝ้า กระเบื้อง หรือกระจกที่ร่วงแตก และถ้าสังเกตด้วยตาเปล่า รอยร้าวมีทั้งหมด 4 ระดับ ระดับที่ 1 ไม่เกิดความเสียหายใดๆ ไม่มีแม้แต่รอยแตกของปูน ระดับที่ 2-3 มีรอยร้าวบ้างที่โครงสร้าง วิธีจะเช็คดูว่ารอยร้าวนั้นอันตรายหรือไม่ ให้ลองนำบัตรประชาชนหรือบัตรเครดิตสอดเข้าไป ถ้าสอดได้ถือว่าเป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ ควรจะซ่อมแซมโดยด่วน
แต่ถ้าสอดไม่ได้แสดงว่ายังไม่น่ากลัว ส่วนระดับที่ 4 เป็นรอยร้าวรุนแรงที่สุด แต่เท่าที่ตรวจสอบมีเพียง 1-2 แห่งใน กทม. เป็นระดับที่คอนกรีตกระเทาะถึงเนื้อใน เหล็กแกนคดงอ และง้างออก มีการทรุดเอียง คอนกรีตแตกเป็นชิ้นๆ ควรซ่อมเสริมเหล็กปลอก และเหล็กแกน แต่ถ้าเกินระดับ 4 ไปแล้ว ในขั้นที่เหล็กแกนและเหล็กปลอก ขาด บิดเบี้ยว จนไปสู่การถล่ม แนะนำให้รื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่
จากการทดสอบด้วยการโยกเสา จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนเยอะขึ้น จะเกิดรอยร้าว และปูนจะเริ่มแยกตัวออกจากเสา แต่ถ้าใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์หุ้มเสาและทดสอบ จะสามารถรับแรงโยกได้มากกว่าเดิม 3-4 เท่า หรืออีก 1 วิธี คือ ใช้แผ่นเหล็กหุ้มตรงเสาแล้วเทปูนเข้าไป เป็นการใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก หรือวิธี ค้ำยันทแยง เพื่อรับน้ำหนักอาคารไม่ให้เกิดผลกระทบ
ในส่วนของต้องเตรียมการรับมือแผ่นดินไหวในอนาคตข้างหน้า จะต้องมีการตรวจดูอาคารให้เกิดความแข็งแรง และจากเหตุแผ่นดินไหว ทำให้มีคนเสียชีวิตครึ่งต่อครึ่งจากการหนีออกจากอาคารผิดวิธี ตามวิธีการแล้ว ประชาชนทุกคนต้องตั้งสติ ลดตัวต่ำลง หลบใต้โต๊ะที่มีความแข็งแรงหรือเอามือกุมศรีษะไว้เพื่อไม่ให้อะไรมากระทบกับศรีษะ
จากนั้นให้หยุดนิ่งอย่าขยับตัว และต้องรู้ว่าบันไดหนีไฟอยู่ไหน เพราะจุดนั้นเป็นจุดที่แข็งแรงที่สุดในตึก พอเหตุการณ์สงบลงแล้วค่อยเดินลงทางบันไดหนีไฟและออกจากอาคารไปตามขั้นตอน และอีกหนึ่งอย่างคือ ต้องมีการติดเครื่อง MEMS Acceleration Sensors เป็นเครื่องเซ็นเซอร์วัดว่าแรงสั่นสะเทือนในตึก จะแจ้งเตือนหลังเกิดเหตุภายใน 10 วินาที
และเท่าที่ตรวจดูตึกเก่ายังคงอยู่ในลักษณะที่โอเคอยู่ เพราะมีการออกแบบการรับแรงลมไว้แล้ว จึงได้รับผลกระทบน้อยจากแผ่นดินไหว ในขณะนี้มีการแบ่งการเฝ้าระวังเป็น 3 บริเวณ คือ
บริเวณที่ 1 โซนพื้นที่ทางภาคใต้
บริเวณที่ 2 บริเวณชั้นดินอ่อน ในปริมณฑล
และบริเวณที่ 3 เป็นโซนภาคเหนือ และภาคตะวันตก ที่เป็นพื้นที่ที่มีรอยเลื่อน
Advertisement