ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา "เส้นด้าย" ได้กลายเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะในฐานะกลุ่มอาสาสมัครที่ช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต หรือในฐานะพรรคการเมืองที่มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไทย
จุดเริ่มต้นของกลุ่ม “เส้นด้าย” มาจากในช่วงที่ไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่ม "เส้นด้าย" ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเน้นไปที่การช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19
ซึ่งทางกลุ่มได้ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาเตียงผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อให้ได้รับการรักษา การประสานงานเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุด PPE หน้ากากอนามัย เครื่องวัดออกซิเจน และการจัดหาอาหารและสิ่งของจำเป็น รวมไปถึงการบริการรถรับ-ส่งผู้ป่วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
บทบาทของเส้นด้ายในช่วงวิกฤตินั้น ทำให้ประชาชนให้การยอมรับในความสามารถและประสิทธิภาพการทำงานของคนกลุ่มนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กลุ่มเส้นด้ายยังคงทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสังคมในด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การให้ข้อมูลด้านสาธารณสุข และการสนับสนุนกลุ่มคนเปราะบางในสังคม
โดยในช่วงเวลากว่า 1 ปีของการดำเนินงาน กลุ่มเส้นด้ายได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากกลุ่มเล็กๆ สู่เครือข่ายอาสาสมัครที่มีสมาชิกมากมายหลายร้อยคน นอกจากนี้กลุ่มเส้นด้ายยังขยายการทำงานไปสู่การช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่
ขณะที่กลุ่มเส้นด้ายยังคงยืนยันในเจตนารมณ์ว่า เมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายกลุ่มเส้นด้ายจะสลายตัวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนแรกเริ่ม แต่ด้วยความสำเร็จและการยอมรับจากประชาชน ทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่มิติทางการเมืองในเวลาต่อมา
จากกลุ่มอาสาสู่พรรคการเมือง
ด้วยแนวคิดที่ว่าปัญหาหลายอย่างในสังคมต้องการการแก้ไขในระดับนโยบาย กลุ่มเส้นด้ายจึงพัฒนาไปสู่ "พรรคเส้นด้าย" โดยมีการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 และมีมติเลือก นาย คริส โปตระนันทน์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น "พรรคเส้นด้าย"
ขณะเดียวกันพรรคเส้นด้ายแม้จะมีรากฐานมาจากกลุ่มเส้นด้าย แต่ทั้งสองหน่วยงานแยกการดำเนินงานอย่างชัดเจน กลุ่มเส้นด้ายมุ่งเน้นช่วยเหลือเชิงปฏิบัติ ส่วนพรรคเส้นด้ายเน้นการผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
อย่างไรก็ตามพรรคเส้นด้ายได้ก้าวเข้าสู่สนามการเมือง โดยส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ปี 2565 ในหลายเขต ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของพรรคเส้นด้ายในการเปลี่ยนจากการเป็นองค์กรอาสาสมัครไปสู่การมีบทบาทในระบบการปกครองท้องถิ่น
ทั้งนี้ก่อนการเลือกตั้ง ส.ก. นายคริส โปตระนันทน์ และสมาชิกบางส่วนของมูลนิธิได้ประกาศลาออก เพื่อให้มูลนิธิสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างเป็นกลาง ช่วยให้กลุ่มเส้นด้ายยังคงสามารถทำงานช่วยเหลือประชาชนต่อไปได้และไม่ถูกเชื่อมโยงกับการเมือง
ซึ่งล่าสุดก็เกิดความขัดแย้งกับ ผู้ว่าราชการ กทม. จากกรณีเหตุแผ่นดินไหว โดยพรรคได้โพสต์โจมตี นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ว่าสร้างภาพ นอกจากนี้ยังระบุว่านายชัชชาติล้มเหลวในการบริหารงาน กทม. ด้วย
ขณะที่นายภูวกร ศรีเนียน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย โพสต์แสดงความคิดเห็นด้วยว่า “กลุ่มเส้นด้ายตั้งขึ้นมาช่วงเดือนเมษายน ปี 64 มีคนหลากหลายมาร่วมมือกันช่วยสังคมช่วงโควิด ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และร่วมงานกับหลายองค์กร จนเมื่อเดือนกันยายน ปี 65 โควิดถูกถอดออกจากโรคร้ายแรง กลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิกส่วนหนึ่งไม่ถึง 20 % ของอาสาทั่วประเทศ ตัดสินใจไปตั้งเป็นพรรคการเมือง
การกระทำดังกล่าวไม่เกี่ยวกับผู้ร่วมก่อตั้งอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงไม่เกี่ยวกับสมาชิกอีกส่วนใหญ่ในทุกจังหวัด การแสดงความเห็นของพรรคเส้นด้ายต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ใช่ทัศนคติส่วนใหญ่ของคนทำงานในนามกลุ่มเส้นด้าย สุดท้ายขอให้ทุกท่านนึกถึงกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นความทรงจำที่ดีของสังคมในช่วงวิกฤตโควิด”
Advertisement