วันที่ 9 เม.ย. 68 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนาย ภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาผลกระทบและมาตรการรับมือจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา โดยมี สส. จำนวน 10 คนลุกขึ้นกล่าวเสนอหลักการ เช่น
นาย นพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอหลักการว่า การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯได้กำหนดกติกาการค้าโลกใหม่ แต่ความจริงความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ เก่าแก่มากจะครบ 200 ปีแล้ว
“เราฝึกคอบร้าโกลด์ทุกปี ในสงครามเกาหลี ประเทศไทยไม่ได้ริเริ่มสงครามก็ไปช่วยสหรัฐฯ สงครามเวียดนามก็ไปช่วยรบ เรารักอเมริกา แม้ขนาดรายการอาหารบางอัน ถ้าเรากินข้าวผัดอเมกัน มีที่ร้อยเอ็ดแต่ไม่มีลอสแองเจอลิส”นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า การที่สหรัฐฯมีมาตรการขึ้นภาษีสินค้าของไทยที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา 36% ต้องยอมรับว่าเกินความคาดหมาย เหตุผลเบื้องหลังที่สหรัฐฯขึ้นภาษีทั่วโลก เราวิเคราะห์กันว่า 1.การขึ้นภาษีเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐน และหวังว่า รายได้จากภาษีนำเข้าจากประเทศต่างๆ จะทำให้สหรัฐฯ ทำงบสมดุลได้ 2.สหรัฐฯต้องการดึงผู้ประกอบการ ผู้ผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ 3.ต้องการรักษาฐานการเมืองของพรรครีพับลีกัน ซึ่งสินค้าเกษตร และการสร้างงานและรักษาอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์จึงจำเป็นต้องรักษาไว้ 4.ตอนนี้ทุกประเทศมุ่งไปสู่การเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯอาจจะมีความสุข หรือชอบที่ประเทศอื่นๆไปเจรจาด้วย
นายนพดล กล่าวว่า การที่เราทราบถึงเหตุผลการขึ้นภาษีของสหรัฐฯครั้งนี้ จะทำให้เราจ่ายยาให้ตรงกับโรค พร้อมกับยืนยัน รัฐบาลไทยรู้ปัญหาและมีแนวทางแก้ไขปัญหา โดยไม่ได้ล่าช้าอย่างที่หลายคนคิด โดยเมื่อรัฐบาลทราบว่า นายโดนัล ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ นายนพดล เสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางเจรจาไม่ชักช้า รวดเร็วและรอบคอบ ส่วนที่กล่าวหาว่า รัฐบาลไม่มีแนวทางและไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งในฐานะที่เคยเป็น รมว.ต่างประเทศ และเคยเจรจาระหว่างประเทศ หลายเรื่องไม่สามารถเปิดเผยก่อนได้
สำหรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการเจรจานั้น นายนพดล กล่าวว่า การเจรจาไม่สามารถสำเร็จได้ภายในวันเดียว เพราะการเจรจามีหลายระดับต้องใช้เวลา และยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ใช้ต้อง win-win ยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ นายนพดล กล่าวถึง 5 ประเด็นหลักที่รัฐบาลจะนำไปเจรจา ว่า ประเด็นแรก ไทยต้องรักษาความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนกับสหรัฐฯ ซึ่งตนเห็นด้วยกับความเป็นหุ้นส่วนในเรื่องของอาหารและอุตสาหกรรมในอนาคต ที่จะมีการนำวัตถุดิบจากสหรัฐฯและนำมาแปรรูป ประเด็นที่ 2.การลดภาษีและการลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งภาษีที่สูงมากเช่น ผลไม้ หรือ การลดข้อกีดกันทางการค้าทำให้ตลาดเปิดมากขึ้น ประเด็นที่ 3.เราต้องลดการขาดดุลระหว่างไทยกับสหรัฐฯให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ตราบใดไม่กระทบกับเศรษฐกิจของไทย โดยไทยจะมีการนำเข้าพลังงาน สินค้าเกษตร และเครื่องบินจากสหรัฐฯมากขึ้น
ประเด็นที่ 4. การตรวจสอบคัดกรองสินค้าป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้มีประมาณ 49 รายการสินค้า จะสามารถจัดการสินค้านี้ได้อย่างไร และให้สินค้าผลิตจากประเทศได้อย่างแท้จริงได้อย่างไร
ประเด็นที่ 5. การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ซึ่งได้ยินมาว่า จะมีการไปลงทุนในท่อแก๊ส หรือท่อน้ำมันในอลาสก้าของบริษัทพลังงานชั้นนำของประเทศไทย เป็นต้น ถือเป็นการแสดงความจริงใจในการที่เราไม่เอาเปรียบเขาและมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
สำหรับการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น นายนพดล กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะมีการส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ส่งออก และมีสินเชื่อให้กับผู้ส่งออกที่จะไปหาตลาดใหม่ และมีสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศ
นอกจากนี้ นายนพดล ฝากข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่า อยากให้รัฐบาลจริงจังในการเปิดหาตลาดใหม่ และการปรับโครงสร้างการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อยากให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เช่น มหาอำนาจด้านอาหาร “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง
ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอหลักการว่า การขึ้นภาษีส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เฉพาะที่กระทบกับประเทศไทย มีความลึก กว้าง และยาว ผลกระทบครั้งนี้มันลึกเพราะ การประกาศขึ้นภาษีสูงสุดในรอบร้อยกว่าปี หนักหนายิ่งกว่ายุคเศรษฐกิจตกต่ำ ในปี 1929 ที่เรียกว่า Great Depression ซึ่งเริ่มมาจากการขึ้นภาษีและตอบโต้กันไปมา จนเกิดผลกระทบแก่ใจเป็นวงกว้างทั่วโลก สินค้าถูกจากทุกทิศทุกทางจะไหลเข้ามาในประเทศไทย ส่งออกได้น้อยลง ท่องเที่ยวก็อาจน้อยลง กำลังซื้อในประเทศที่ตอนนี้ก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ก็จะย่ำแย่ไปอีก
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มักจะแสดงสินค้าที่ได้รับผลกระทบแบบหยาบๆ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีแรงงานอยู่จำนวนมาก กินพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่สงขลา หาดใหญ่ ชลบุรี ระยอง โคราช อยุธยา ขึ้นไปจนถึงลำพูน ที่ภาคเหนือ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานถึงไม่ได้ส่งออก แต่ก็ได้รับผลกระทบ เราคงต้องอยู่ในระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐฯได้สร้างขึ้นมาอีกสักระยะ สิ่งที่เราเผชิญอยู่เป็นแค่ศึกแรกเท่านั้น กระบวนการเจรจาก็ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ตอนนี้สหรัฐอเมริกาบอกว่ามีกว่า 70 ประเทศต่อคิวเข้าพบ อาจจะต้องเจอกับลูกหลงที่ประเทศไทยต้องเจอหางเลขไปด้วย มันหนักขึ้นทุกวัน ถามว่ากระทบกับเราหรือไม่ การที่เขาตอบโต้กันไปมากระทบกันแน่ เพราะเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในการผลิตสินค้าจีนเรียบร้อยแล้ว ถ้าสินค้านั้นต้องส่งไปขายที่สหรัฐก็ต้องเจอผลกระทบที่ตอบโต้กันไปมาแน่ ไม่ลดคำสั่งซื้อก็เลิกซื้อ กระทบมาถึงผู้ผลิตไทยแน่ ยอดขายหายทันที
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้ด้วยคำ 3 คำ ได้แก่ รู้เขารู้เรา เร็ว และแม่นยำ ขณะที่วันก่อนหน้านี้ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรายังดูท่าที ไม่รีบ ตกลงว่าจะเร็วหรือรอ ไปตกลงกันให้เรียบร้อย พร้อมฝากถึงนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะไปคุยกับเกษตรกรอเมริกา ควรไปคุยกับเกษตรกรไทยก่อน รวมถึงหากเล็งช่องทางการร่วมลงทุนท่อก๊าซใน 1รัฐอะแลสกาได้หารือกับประเทศอื่นที่ใช้ช่องทางนี้แล้วหรือยัง เรื่องเครื่องบินหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ก็ไม่ได้อยู่ในเรื่องที่นายพิชัยแถลงเมื่อวานนี้ จึงอยากสอบถามว่าวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหรือไม่
“สิ่งที่อยู่บนโต๊ะเจรจาไพ่ที่เราจะไปคุยกับเขา มันไม่ได้ให้ความความรู้สึกถึงความ Phenomenal อย่างที่ประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ต้องการ ใหญ่เบิ้ม อัศจรรย์อย่างที่ทำต้องการ เป็นไปตามที่นายศุภวุฒิ เคยพูดไว้ ว่าเราไม่มีอะไร Phenomenal อย่างที่ทำต้องการ แถมแต้มต่อที่เคยมีก็หายไปทุกวันๆ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เราส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ทำให้มิตรกลายเป็นอื่น เหตุการณ์ยังเลวร้ายไปอีกเมื่อมีการแจ้งจับนักวิชาการอาจารย์พอล แซมเบอร์ส ด้วยข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถ้าผู้แทนการค้าสหรัฐ ยังรับสายไทยอยู่ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ตนยังสงสัยว่า เขายังจะเจรจากับเราหลังจากนี้เรื่องนี้อยู่หรือไม่ แม้ประเทศอื่นบางประเทศไม่ได้ใช้วิธีการเชิงรุก แต่เขาก็เตรียมการอย่างตรงไปตรงมา เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเยียวยา พยุง กระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ สิ่งสำคัญคืออยากให้รัฐบาลเร่งทำความเข้าใจกับเอกชนที่เตรียมโยกย้ายฐานการผลิตกลับไปอเมริกา
ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา เรียกร้องให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะ เชื่อว่า สส.ก็เห็นด้วย ถ้าไม่ได้กู้เงินมาแจกสะเปะสะปะอย่างที่ผ่านมา ฟื้นฟูประเทศ ในระยะสั้นและระยะยาว กู้เลยค่ะ ถ้าต้องการนำเงินมาเยียวยาภาคธุรกิจอุตสาหกรรม แรงงานที่ได้รับผลกระทบ กู้ได้ ถ้าท่านจะใช้งบประมาณเพื่อเดินหน้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย ดิฉันคิดว่าไม่มีโอกาสไหนที่ใหญ่กว่าโอกาสนี้ ในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
Advertisement