นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนขอสังเกตว่าหามาตรการนี้ยังไม่ได้ผล ทรัมป์อาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีก โดยเฉพาะที่มีการระบุไว้ว่าหากประเทศคู่ค้าใดใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐ ประธานาธิบดีอาจพิจารณาเพิ่มหรือขยายขอบเขตการจัดเก็บภาษีได้อีกภายใต้คำสั่งนี้ ซึ่งเหมือนที่ทำกับจีน และหากประเทศใดยอมแก้ไขและเยียวยาให้สหรัฐ อาจพิจารณาปรับลดภาษีที่จะเก็บ ซึ่งหากจะเทียบกับ“แผ่นดินไหว”หากผู้ค้าใดใช้การตอบโต้แล้วสหรัฐเพิ่มหรือขยายขอบเขตการจะเก็บได้ตรงนี้จะถือเป็น "อาฟเตอร์ช็อก" และอย่าคิดว่าทั้งหมดจะจบลงแค่นี้อาจจะมีอะไรตามมาอีกก็ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่นิ่งนอนใจ และติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย หากย้อนไปดูตัวเลขในปีที่แล้ว ลำดับ 1 ส่งออกของไทยคือตลาดสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 18.29% ของยอดส่งออกทั้งโลก หรือ 1 ใน 5 และไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐเฉพาะปีที่แล้ว 1.21 แสนล้านบาท ถือว่ามีความยิ่งใหญ่และสำคัญกับเรามาก ดังนั้นเมื่อมีการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าจากไทยถึง 36% จึงมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและตัวเลขดุลการค้าของไทยมหาศาล ถ้าเราไม่สามารถเจรจาประสบความสำเร็จ ผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ
1. อย่างน้อยที่สุดในภาพรวม สินค้าไทยในสหรัฐจะแพงขึ้น และแข่งขันยากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องแข่งกับประเทศที่ต้นทุนต่ำ หรือเสียภาษีต่ำกว่า และคุณภาพใกล้เคียงกัน
2. สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบใน 15 รายการมีสินค้าที่ไทยที่เป็นลำดับที่1 อยู่3 ตัวคือยางรถยนต์ ข้าวและวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวและยางรถยนต์ จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะข้าว การประกาศภาษีข้าว 36% ครั้งนี้เหมือนดาบสามที่จะเชือดคอชาวนาไทย โดยดาบหนึ่งคือข้าวนาปี ข้าวนาปังในช่วงปีที่ผ่านมาที่ราคาตกขายได้เกวียนละ 7,000 กว่าบาท เจอดาบสองคืออินเดียประกาศยกเลิกห้ามส่งออกข้าวแล้วหันมาส่งออกข้าวขาว ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวทั่วโลก โดยเฉพาะคู่แข่งคือไทยทำให้การส่งออกเรามีอุปสรรคและส่งผลกระทบต่อราคาข้าว
และสถนการณ์ครั้งนี้คือดาบสามเพราะไทยส่งออกข้าวไปสหรัฐเป็นลำดับ 1 ปีละประมาณ 850,000 ตันขณะที่เราต้องโดนภาษี 36% แต่คู่แข่งของเราคือเวียดนามส่งออกไปสหรัฐแค่ 40,000 ตันแม้จะโดนภาษีมากกว่าไทยคือ 46% แต่ต้นทุนเขาต่ำกว่า ขณะที่ราคาข้าวไทยยังแพงกว่าเวียดนามเกือบเท่าตัว จึงมีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าข้าวไทยจะขายในตลาดสหรัฐยากขึ้น และถือเป็นโอกาสให้เวียดนามแย่งตลาดไป
นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งการเจรจาให้ถูกทางโดยเฉพาะเมื่อเราประกาศแข่งขันว่าจะไม่เอานโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่เคยใช้มาใช้ในรัฐบาลนี้ คำถามคือแล้วจะมีการช่วยผู้ส่งออกอย่างไร และจะช่วยชาวนาอย่างไรหากราคาข้าวจะตกไปมากกว่านี้ ส่วนราคายางที่ไทยส่งยางล้อไปสหรัฐเป็นอันดับ 1 หากโดนภาษี 36% จะทำให้ราคายางไทยมีราคาแพงขึ้นและขายยากขึ้น และกระทบกับเกษตรกรชาวสวนยางมากขึ้น เพราะตัวอย่างเห็นชัดสหรัฐเตรียมประกาศมาตรการวันที่ 9 เม.ย. ปรากฏว่า ราคายางของไทยวันที่ 8 เม.ย. ตกกราวรูด และเดือนพฤษภาคมก็จะมียางออกมาอีก หลายคนกังวลว่าราคาจะต้องลงไปอีก
ดังนั้นต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหากไปลงเรือวันที่ 9 เม.ย. ภาษีมีการเปลี่ยนแปลงจะทำอย่างไร กระทบการส่งออกหรือไม่ ลูกค้าที่สหรัฐจะชะลอการส่งมอบหรือไม่ และหาเหตุยกเลิกสัญญาหรือไม่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทราบและกรุณาเร่งช่วยหาทางคลี่คลายโดยเร็ว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะเอาข้าวโพดไปต่อรองให้มีการนำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น ซึ่งต้องกระทบราคาข้าวโพดในไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นต้องดูแลให้ดีว่าจะนำเข้าเวลาไหน อย่างไร ที่ให้กระทบเกษตรกรน้อยที่สุด หรือไม่กระทบเลย กรณีเนื้อหมู สมัยตนเป็น รมว.พาณิย์ ได้เจรจากับ UHTR หรือผู้แทนการค้าสหรัฐหลายครั้ง แต่ไม่สามารถนำเข้าเนื้อหมูได้เพราะปัญหาสารเร่งเนื้อแดง หากจะเอาไปแลกให้นำเข้าได้รัฐบาลต้องมีคำตอบว่าด้วยเหตุผลอะไร อย่างไร และจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้รับอย่างไร
นอกจากนี้ SME ที่ที่จะส่งออกสหรัฐมีการประเมินชัดว่า ปี 68 จะกระทบ 38,300 ล้านบาท และภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคในปี 68 รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะทำ GDP ไม่น้อยกว่า 3% วันที่ทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้การค้า นายกรัฐมนตรีบอกว่า ไม่กระทบ และเตรียมมาตรการทั้งหมดไว้แล้ว ซึ่งนายกฯอาจจะมองในภาพบวกแต่มันสวนทางกับทุกสำนักทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบไม่ต่ำกว่า1% ถึง 2% แปลว่าหากเจรจาไม่สำเร็จโอกาสที่จะโต 3% จะลดลงมาเหลือ 1% หรือดีสุดไม่เกิน 2%
จึงถือเป็นการบ้านและความท้าทายความสามารถ และฝีมือการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาล ว่าถ้ายังยืนยัน 3% อะไรคือคำตอบว่าจะทำได้ นอกจากแจกเงินหมื่นบาท ที่ซึ่งวันนี้มีความชัดแล้วว่าพายุไม่ได้หมุนอย่างที่คิด หรือกาสิโนที่รัฐบาลก็ยกธงขาวชั่วคราวไปแล้ว เพราะไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจคุณธรรม ดังนั้นมาตรการอื่นคืออะไร ที่จะทำให้โต 3% ได้ ตนเชื่อว่าคนไทยอยากทราบ และผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคนรวมทั้งเอกชนและทุกฝ่ายก็อยากจะทราบ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับบางมาตรการที่รัฐบาลเตรียมไว้สำหรับบรรเทาผลกระทบตัวเลขการส่งออก เช่นการเร่งเจรจา FTA การส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ มาตรการเยียวยาต่างๆ แต่รัฐบาลต้องรับทราบด้วย FTA ที่รัฐบาลหวังเช่น FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่คาดว่าจะเจรจาให้เสร็จในปลายปีหากเสร็จจริงก็ไม่ได้แปลว่าสามารถบังคับใช้ได้เลย เพราะต้องให้ 27 ประเทศสหภาพยุโรปให้สัตยาบัน และเราก็ต้องลงสัตยาบันอีก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะหน้าที่อยากเห็นในการแก้ปัญหาขณะนี้เพื่อทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตให้ได้ 3% และ FTA อาเซียน-แคนาดา ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน ส่วนการเปิดตลาดใหม่ตนเห็นด้วยว่าต้องทำ แต่ความท้าทายคือเศรษฐกิจทั้งโลกจะตกหมดแม้แต่สหรัฐเอง ติดลบลงมาหรือไม่ก็ชะลอตัว
ดังนั้นโอกาสที่เราจะหาตลาดใหม่มันยากขึ้นเป็นสองเท่า แต่ไม่ได้แปลว่าให้ยกเลิกความคิดนี้ ตนสนับสนุนให้ทำแต่ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงอีกอย่างว่า ขณะที่เราตั้งใจไปบุกตลาดเขา เขาก็มาบุกตลาดเราเหมือนกัน เพราะทุกคนเจอสภาพเดียวกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ที่วันนี้ส่งสินค้ามาตีตลาดไทยหนักมาก ทำให้เราเสียสมดุลการค้า รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหารับมือกับสิ่งเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ยังฝากไปถึงคณะเจรจาว่า เรื่องสินค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตกลงภายใต้ภาษีเดิม แต่กำหนดส่งมอบหลังวันที่9 เม.ย. จะช่วยเจรจาอย่างไรเพราะมีตัวเลขเบื้องต้นคร่าวๆว่าคิวสอง เดือนเมษายน-มิถุนายน 68 มีสินค้ามากกว่า 50% อาจถูกชะลอการนำเข้าเพื่อรอความชัดเจนจากการเจรจา ซึ่งแปลว่ายิ่งช้าเราจะยิ่งได้รับผลกระทบไปทุกส่วน และการประกาศหันมาใช้ มาตรการการค้าแบบทวิภาคีของทรัมป์อาศัยอำนาจการซื้อที่เหนือกว่ากำหนดกติกาฝ่ายเดียว และเป็นการท้าทายกติกาการค้าแบบพหุภาคีที่ทั้งโลกยืนหยัดร่วมกันมานาน
”ผลจากสงครามการค้าภาคพิสดารครั้งนี้ มีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญแบ่งโลกออกเป็น 4 ฝ่าย คือ 1. สหรัฐกับพันธมิตร 2. จีนกับพันธมิตร 3. สหภาพยุโรปกับพันธมิตร และ 4. ประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด คำถามของผมคือประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหน อย่างไร เพื่อให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เข้มข้นรุนแรงยิ่งขึ้นเช่นในปัจจุบัน หากรัฐบาลมีคำตอบแล้วก็พออุ่นใจ แต่ถ้ายังไม่มีคำตอบรัฐบาลต้องรีบหาคำตอบอย่างน้อยที่สุด เพื่อให้เราทุกคนได้นอนตาหลับ และฝากความหวังไว้กับรัฐบาลได้" นายจุรินทร์กล่าว
Advertisement