ทั้งนี้ พบว่าอาการผิดปกติดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องบางส่วนกับปัจจัยทางจิตเวช โดยเป็นผลมาจากความเครียดรุนแรงระหว่างการระบาดใหญ่ครั้งนี้ รายงานวิจัยข้างต้นตีพิมพ์ลงในวารสาร Translational Andrology and Urology (TAU) ฉบับเดือนธันวาคม 2021 ระบุว่าแม้ทั่วโลกจะมีรายงานเรื่องผู้ป่วยโควิดชายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เนื่องจากไวรัสโควิดเข้าทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือดและอวัยวะสืบพันธุ์ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางเพศและความสามารถในการเจริญพันธุ์ แต่ในกรณีของชายไทยซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น ปัจจัยทางสุขภาพจิตก็อาจมีส่วนสำคัญในการทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวระหว่างที่ป่วยด้วยโรคโควิดได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างชายไทยที่เข้ารับการรักษาโรคโควิด ในโรงพยาบาล ระหว่างเดือนมิ.ย. - ก.ค.ของปีนี้ โดยคัดเลือกเอาผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยหนัก รวมทั้งไม่มีอาการทางจิตเวชในระดับรุนแรง และยังคงทำกิจกรรมทางเพศอยู่ในช่วงก่อนล้มป่วย ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ข้างต้น 153 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 654 ราย
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับคัดเลือกจะต้องทำแบบทดสอบ IIEF-5 เพื่อตรวจวัดระดับความรุนแรงของอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่อาจเป็นอยู่ นอกจากนี้ยังต้องทำแบบทดสอบ PHQ-9 เพื่อประเมินว่ามีอาการของโรคซึมเศร้ามากน้อยเพียงใด รวมทั้งทำแบบทดสอบ GAD-7 เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรควิตกกังวลแบบทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) อีกด้วย
ขณะที่ ผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศโดยทั่วไปที่ ร้อยละ 64.7 โดยแบ่งเป็นอาการนกเขาไม่ขันในระดับเล็กน้อยร้อยละ 45.1 ระดับปานกลาง ร้อยละ 15.7 และระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ร้อยละ 3.9 ซึ่งทีมผู้วิจัยเปิดเผยว่าตัวเลข ร้อยละ 64.7 ของกลุ่มผู้ป่วยโควิดชายไทยที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้น นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่พบในกลุ่มประชากรต่างประเทศเป็นอย่างมาก จึงอาจพิจารณาได้ว่าอาการผิดปกติในกรณีนี้ เกิดขึ้นจากทั้งไวรัสก่อโรคและปัจจัยทางจิตวิทยาส่งผลร่วมกัน
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมของชาวเอเชียที่ส่งผลต่อการติดเชื้อโควิดได้ง่ายกว่า และการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อัลฟาในประเทศไทยระหว่างที่ทำการศึกษา อาจส่งผลให้สถิติการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยชายไทยสูงกว่าของต่างประเทศได้ แต่ปัจจัยเหล่านี้รวมทั้งอายุ ดัชนีมวลกาย และโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อนของผู้ป่วย กลับไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวของกลุ่มตัวอย่าง
อนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลคะแนนจากแบบทดสอบโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล กลับแสดงความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอย่างสูงกับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยโควิดชายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชายหนุ่มอายุน้อย และพบอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคอื่นที่มีอายุรุ่นเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อย. อนุมัติฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็ก 5 - 11 ปี แล้ว แต่ให้ลดปริมาณวัคซีน
- เช็กเลย! นนท์ booster แจ้งตาราง ฉีดวัคซีนเข็ม 3 เดือนมกราคม 2565
- โรงพยาบาลไทรน้อย เปิดวอล์กอิน โมเดอร์นา เข็ม 3 ไม่จำกัดพื้นที่อาศัย วันนี้ (23 ธ.ค.64)
Advertisement