ครม.เห็นชอบเสนอ ภูกระดึง และ ภูเขียว-น้ำหนาว ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ชี้เป็นแหล่งพืชพันธุ์และสัตว์ป่าหายาก
วันที่ 29 มี.ค.65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรกรองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว มีลักษณะโดดเด่นที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ดังนี้
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย มีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด (Mesa) ซึ่งเกิดจากการกัดกร่อนของทางน้ำผ่านเนื้อหินภูเขาจนกลายเป็นภูเขายอดราบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก 44 ชนิด เช่น หญ้าดอกลำโพง กุหลาบขาว กุหลาบแดง ฯลฯ รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง รวม 27 ชนิด เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ฯลฯ นอกจากนี้ ในพื้นที่มีกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ คือ กิจกรรมส่งน้ำพระพุทธเมตตา ที่จัดงาน 18-19 เมษายนของทุกปี
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าร้อยละ 96.65 มีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและลักษณะของถ้ำที่มีความโดดเด่น เช่น ถ้ำครอบ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งของพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย กระโถนพระฤๅษี สนสามพันปี ฯลฯ รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น แมวลายหินอ่อน เลียงผา เนื้อทรายเสือลายเมฆ เป็นต้น และยังได้มีการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 2 ชนิด ได้แก่ จิ้งเหลนห้วยหางหนามและค้างคาวไอ้แหว่งน้อย นอกจากนี้ ในพื้นที่มีกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ประเพณีการแขวนทุง (แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีเผาข้าวหลาม เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนต่อจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Center for Biodiversity: ACB) เพื่อส่งเอกสารนำเสนอให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบพร้อมทั้งประเมินพื้นที่ และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณา ก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Officials on the Environment: ASOEN) และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: AMME) เพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแล้ว 7 แห่ง ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ปี 2527) 2.อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ปี 2527) 3.กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา (ปี 2546) 4.กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี (ปี 2546) 5.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง (ปี 2562) 6.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง (ปี 2562) และ 7.อุทยานแห่งชาติเขาสก (ปี 2564) นอกจากนี้ ไทยได้เสนออุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนอีกด้วย (มติ ครม. 30 มิ.ย.63) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อุทยานแห่งชาติภูลังกา ประกาศปิด ถ้ำนาคี ชั่วคราว หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด 7 ราย
- เปิดสถิติ จันทบุรี 3 เดือนช้างเหยียบคนตาย 7 ราย
- โหดร้ายเกินไปไหม? วาง กับดักช้าง รอบแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง คาดฉุนโดนรุกพื้นที่
Advertisement