ภาพซูเปอร์ฟูลมูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในคืนวันอาสาฬหบูชา ขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณ 7%
เฟซบุ๊กเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพ ซูเปอร์ฟูลมูน ในคืนวันอาสาฬหบูชา โดยระบุว่า ภาพเปรียบเทียบ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคม 2565 บันทึกจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา กับดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
"ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" หรือ "ซูเปอร์ฟูลมูน" (Super Full Moon) ในปี 2565 นี้เกิดขึ้น ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 มีระยะห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16%
แม้ว่าดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในปีถัดไปจะตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม 2566
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าหลายพื้นที่ในประเทศไทยวานนี้ ฝนตก มีเมฆมาก ทำให้หลายคนพลาดการชมซูเปอร์ฟูลมูนอย่างน่าเสียดาย
Advertisement