ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นข่าวการพบงูตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะในบ้านเรือน หรือแม้แต่งูที่โผล่ห้อยลงมาจากบนต้นไม้ย่านดินแดง ในเมืองหลวงอย่างอย่างกรุงเทพ จนหลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เป็นเรื่องแปลกหรือปกติที่พบเห็นงูจำนวนมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนแบบนี้ แต่ก็ใช่ว่าในช่วงฤดูร้อนและหนาว เราจะไม่พบมัน
“งูเข้าบ้าน!!” เหตุการณ์ที่ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้น หากมีอสรพิษเข้ามาในพื้นที่อาศัยคงไม่ดีแน่ เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นกับตัวของเราเอง คนในครอบครัว หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง แต่ทว่านี่กลับเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
การขยายตัวของชุมชนและเมือง ทำให้พื้นที่อาศัยของสัตว์น้อยลงเราจึงมักพบเห็นสัตว์เลื้อยคลานเช่น “งู” ได้บ่อยครั้ง ทั้งในท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและหลบซ่อนตัวได้ดีที่สุด หลังการเติบโตขยายของเมืองและชุมชน จนรุกล้ำพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของงู ไม่เว้นแม้แต่การผันตัวจาก “ผู้ล่าให้กลายเป็นผู้หลบซ่อน” ถ้าหากถามว่าทำไมพวกมันไม่ไปอาศัยที่อื่น ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “ห่วงโซ่อาหาร” ของมันอยู่ในที่เดียวกับเรา ไม่ว่าจะเป็น หนู เศษอาหาร ไก่ หรือสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เช่นสุนัขและแมว เป็นสาเหตุที่ทำให้เราพบเห็นข่าวการจับงูมากมาย เพราะต่างก็เป็นเหยื่อล่อชั้นดี ยิ่งในช่วงฝนตก น้ำท่วม ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ “งู” หนีออกมาจากที่อาศัยเดิม ซึ่งจุดต่างๆตามบ้านเรือนของคนเรา เป็นแหล่งอาศัยที่ให้ความอบอุ่นแก่พวกมันได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากข้อมูลสถิติของสายด่วน ศูนย์วิทยุพระราม ว่าตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 จนถึงสิงหาคม ที่ผ่านมา มีประชาชนแจ้งให้ไปช่วยจับงูเข้าบ้าน มากถึง 2 หมื่นกว่าครั้ง โดย
มกราคม รับแจ้งเหตุให้ไปจับงู 2,503 ครั้ง
กุมภาพันธ์ 2,195 ครั้ง
มีนาคม 3,108 ครั้ง
เมษายน 2,886 ครั้ง
พฤษภาคม 3,376 ครั้ง
มิถุนายน 3,763 ครั้ง
กรกฎาคม 4,745 ครั้ง
สิงหาคม 5,017 ครั้ง
ซึ่งจะเห็นได้ว่ายิ่งเข้าหน้าฝน จำนวนของงูที่พบและมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ไปช่วยจับ ยิ่งมากขึ้น ขณะที่สายพันธุ์ของงูที่พบมากที่สุด ใน กทม. คือ งูเหลือม เฉพาะเดือนสิงหาคม พบมากถึง 2,142 ตัว รองลงมาคือ งูเขียวพระอินทร์ พบ 245 ตัว และงูทางมะพร้าว พบ 132 ตัว
ทีมข่าวอมรินทร์ ออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางเขน ผู้ที่ถือว่าเป็นปรมาจารย์ด้านการจับงูคนหนึ่งของประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์ทำงานและเป็นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญใน “จับงู” ในพื้นที่ กทม. มีงูที่พบได้บ่อยที่สุดคือ “งูเหลือม” มากถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ เพราะเป็นสัตว์เลื้อยคลานและการที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร มักจะเป็นผู้ล่ามากกว่า เป็นผู้ถูกล่า และด้วยการที่ออกไข่จำนวนมากๆ ครั้งละราว 30-50 ฟอง โอกาสรอดมีถึง 95% ทำให้จำนวนของมัน เพิ่มขึ้นกับก้าวกระโด ส่วนอีกร้อยละ 25 เป็นงูชนิดอื่นๆ เช่น งูเห่า , แสงอาทิตย์ , สิงหางลาย , งูเขียวพระอินทร์ ส่วนอีกร้อยละ 5 จะเป็นงูต่างถิ่น เช่น งูที่ติดรถของนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ งูที่ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่งูจงอางเอง ก็ถือว่าเป็นผู้มาเยือนในพื้นที่กรุงเทพฯ
โดยงูชนิดที่หากพบเจอแล้วต้องระวังตัวมากที่สุด และต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาช่วยเหลือทันที จ.ส.ต.ภิญโญ ให้คำตอบว่า “งูที่มีพิษ” ซึ่งการที่เราจะรู้ได้นั้นว่างูแบบไหนเป็นงูที่มีพิษ มีวิธีแยกชนิดของงูแบบง่ายที่สุด คือ “การจดจำลักษณะเด่นของงูแต่ละชนิด” หากเราจำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถแยกได้ว่างูชนิดไหนมีพิษ หรือไม่มี เต็มที่ก็ไม่เกิน 10 ชนิด เช่น
งูเห่า เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ามีพิษ และมีลักษณะเด่นคือ แผ่แม่เบี้ย งูเห่าไทยจะมีลายดอกจันเป็นวง ส่วนงูเห่าพ่นพิษ มีลายดอกจันเป็นรูป V หรือ U หรือไม่มีลายเลย
งูจงอาง จะมีลักษณะเด่นคือ มีเกร็ดที่ท้ายทอย 1 คู่ แผ่แม่เบี้ยได้ ไม่มีลายดอกจันอย่างงูเห่า แต่ทำเสียงขู่คล้ายงูเห่า
งูเหลือม เป็นงูที่ไม่มีพิษ มีเกล็ดบริเวณลำตัวตั้งแต่ปลายหัวจรดปลายหางมีสีเหลืองหรือสีเหลืองปนน้ำตาล พื้นของตัวสีน้ำตาลแดง
งูเขียวพระอินทร์ หรือ งูเขียวดอกหมาก เป็นงูที่มีความสามารถในการ “ร่อน” ได้
ซึ่งหากพบแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นงูชนิดใด มีพิษหรือไม่ ให้ถ่ายรูปงู และส่งให้เจ้าหน้าที่ การรู้ชนิดของงู ไม่เพียงแต่จะทำให้ง่ายนอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันหากถูกกัด การรู้ชนิดของงูว่ามีพิษหรือไม่ จะช่วยให้ง่ายต่อการรักษา
จะวิ่ง หรือ จะจ้อง เมื่อเราพบงูในบ้าน เชื่อว่าคำถามนี้เกิดขึ้นในหัวของหลายๆคน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจับงูของเราให้ข้อมูลไว้ว่า “ถ้าเราเห็นงู ก่อนที่งูจะเห็นเราถือเป็นเรื่องที่ดี” เพราะจริงๆ แล้วงูจะกลัวมนุษย์ คนที่ถูกงูกัด คือ คนที่เหยียบ หรืออยู่ใกล้จนเกินไป
"“งู” มักจะหาจุดที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองและปลอดภัย เมื่อเรากำลังจ้องตากับมันแล้วล่ะก็ เราควรที่จะหยุดนิ่ง และถ้าหากสิ่งที่เรากำลังจ้องอยู่ มันทำท่าชะโงกซ้ายที ขวาที นั่นหมายความว่ามันกำลังจะหันหลังกลับ เพื่อไปหาแหล่งซ่อนตัวใหม่ที่ปลอดภัย ในจังหวะนั้น เราควรที่จะติดตามอย่างห่างๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามันกำลังไปซ่อนตัวที่ไหน และแจ้งสายด่วน 199 เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อจับงูไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย
แต่ถ้าหากระหว่างนั้น ถ้าประเมินสถานการณ์แล้วว่า จัดการเองได้ เอาอยู่แน่ ลองหาวิธีเก็บเจ้างู หากตัวเล็ก อาจใช้สิ่งของบางอย่างเข้ามาช่วยเช่น ฝาชี ฝาโอ่ง มาครอบตัวงูไว้ก่อน แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหว ก็อย่าฝืนนะครับ”
ความทรงจำตั้งแต่สมัยเรียนลูกเสือ-เนตรนารี อย่าง “ขันชะเนาะ รัดไว้ไม่ให้พิษแล่นสู่หัวใจ” ให้รื้อทิ้งไปได้เลย ถ้าถามว่าผิดไหมคงตอบได้ว่า “ก็ไม่ได้ผิด” แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เราต้องเสียขา แขน หรือส่วนที่ถูกกัดไปได้ เพราะหากโรงพยาบาลอยู่ไกลกว่าจะเดินทางไปถึง เลือดคงไปไม่ถึงส่วนที่รัดไว้เหมือนกัน
ผู้เชี่ยวชาญการจับงูแนะนำว่า วิธีปฐมพยาบาลหลังถูกงูกัดที่ดีที่สุดคือ ล้างแผลให้สะอาด ลดการเคลื่อนไหวของร่างกายในส่วนที่ถูกกัด แล้วเลือกเดินทางไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ห้ามทำตัวเป็นพระเอกใช้มีดกรีดแล้วดูดพิษโดยเด็ดขาด เพราะนั่นไม่ได้ช่วยอะไร และอาจทำให้แผลติดเชื้อได้
“เราอยู่ในแต่ละพื้นที่ เราควรหาข้อมูลหรือปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ว่าหากเกิดกรณีฉุกเฉินถูกงูกัด ทางโรงพยาบาลพร้อมมากน้อยแค่ไหนในเรื่องของเซรุ่ม จะได้ไม่เสียเวลาเดินทางเพื่อไปรักษา ใกล้ที่สุดไม่พอ แต่ควรจะพร้อมด้วย” จ.ส.ต.ภิญโญ กล่าว
การค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับวิธีการป้องกันงูไม่ให้เข้าบ้าน เช่น ใช้ปูนขาว กำมะถัน ว่านพญาแล น้ำมัน หินเกร็ด สารเคมี หรืออะไรก็แล้วแต่ตามความเชื่อ เรื่องนี้ จ.ส.ต.ภิญโญ ยืนยันว่าไอเทมต่างๆเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะช่วยเรื่องนี้ได้ เพราะเขาก็ยังไปจับงูในบ้านที่ใช้สิ่งเหล่านี้ป้องกันงูอยู่
“ สิ่งเหล่านั้นเป็นการป้องกันที่ปลายเหตุ เพราะการที่ “งูเข้าบ้าน” สาเหตุจริงๆ แล้ว เกิดจากความไม่เรียบร้อยของบ้าน อาจมีพื้นที่รกร้างให้งูมาแอบอาศัย เศษอาหารที่เรียกหนู ซึ่งเป็นอาหารของงู กลายเป็นการเรียกงูเข้าบ้านโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุที่ต้องแก้ไข มากกว่าการตามล่าหาไอเทมเด็ดเพื่อนำมาใช้ป้องกัน อีกทั้งการใช้สารเคมียังเป็นการสร้างอันตรายให้กับตัวเราเองอีกด้วย
ประตูบ้านที่มีช่องว่างต้องเปลี่ยน เพื่อไม่ให้งูแทรกตัวเข้ามาได้ จุดไหนที่ล่อแหลมปิดได้ต้องปิด ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยได้ รวมทั้งการจัดระเบียบบ้าน เก็บกวาดข้าวของให้เรียบร้อยก็ป้องกันได้เช่นกัน อย่าลืมว่าทุกอย่างมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เราต้องพยายามใช้หลักและเหตุผลเข้ามาแก้ปัญหา ให้งูอยู่ในส่วนของงู และเราอยู่ในส่วนของเรา” จ.ส.ต.ภิญโญ กล่าว
สำหรับงูที่เจ้าหน้าที่จับมาแล้ว จ.ส.ต.ภิญโญ บอกว่าจะถูกส่งไปในที่ที่เหมาะสม เช่น งูเหลือม จะส่งให้กับกรมอุทยานคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อนำกลับคืนสู่ป่าที่เหมาะสม เพราะเป็น 1 ในชนิดที่ถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า ส่วนงูมีพิษอื่นๆ ก่อนจะถูกส่งตัวไปที่อยู่ใหม่ เจ้าหน้าที่จะส่งไปยังสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อเก็บพิษและนำไปผลิตเป็นเซรุ่มแก้พิษงู เพื่อให้แพทย์นำไปใช้ช่วยเหลือผู้ที่ถูกงูกัด โดย สถานเสาวภา เป็นหน่วยงานที่ผลิตวัคซีนบีซีจี เซรุ่มแก้พิษงู โดยจะผลิต เซรุ่มแก้พิษงู เดี่ยวชนิดแห้ง 7 ชนิด ได้แก่ เซรุ่มแก้พิษงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูกะปะ งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ และเซรุ่มแก้พิษงูรวมชนิดแห้งอีก 2 ชนิด คือ งูระบบประสาท และ งูระบบโลหิต
ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่อยากฝากไปถึงทุกคน อย่างแรกคือต้องตั้ง "สติ" เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอสรพิษ และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของงู ที่เราควรรู้ไว้ เพื่อจะได้เตรียมรับมือได้อย่างปลอดภัย หากเจอสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับงูไม่ว่าจะมีเป็นงูที่มีพิษหรือไม่มีพิษก็ตาม
Advertisement