เริ่มแล้ว เทศกาล "ดิวาลี" เทศกาลแสงสว่างแห่งความสุข ปีใหม่ไทย-อินเดีย เนรมิตคลองโอ่งอ่าง พาหุรัด สะพานเหล็ก เป็น "Little India"
พลาดไม่ได้กันเลยทีเดียวกับเทศกาล “ดิวาลี” Deepavali Bangkok Festival 2022 ที่ทาง กทม.ร่วมกับ สมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย ได้เนรมิตเอาคลองโอ่งอ่าง พาหุรัด สะพานเหล็ก เป็น "Little India" ในช่วงเทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวอินเดีย
ดิวาลี หรือ ดีปาวลี เป็นเทศกาลที่ชาวอินเดียทั่วโลกต่างจัดขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองช่วงเทสกาลแห่งแสงสว่างและความสุข เปรียบเสมือน “วันปีใหม่” นั่นเอง ถือเป็นเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของคนเชื้อสายอินเดียทั่วโลก นับเป็นวันหยุดยาวที่ใหญ่ที่สุด
สายมูฯ ไม่ควรพลาด สำหรับพิธีสักการะบูชา “เทพเจ้าแห่งความรัก ความสำเร็จ และความโชคดี”
อยากประสบความสำเร็จ สมหวัง ดั่งใจหมาย ต้องไม่พลาดกับพิธีไหว้สักการะเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู “องค์พระพิฆเนศ พระแม่ลักษมีเทวี ” โดย องค์พระพิฆเนศ หรือ พระพิฆเนศวร นั้นเป็นเทพของชาวฮินดู ที่อยู่คู่กับชาวไทยมาช้านาน โดยเชื่อกันว่า พระพิฆเนศเป็นเทพแห่งการเริ่มต้น อุปสรรคและความสำเร็จ จะช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรคทั้งปวง ที่จะเกิดขึ้นให้หายสิ้นไป ช่วยให้ประสบความสำเร็จ สุขสมหวังดั่งปรารถนา ดังจะเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทางพราหมณ์-ฮินดู จะมีการอัญเชิญบูชาพระพิฆเนศก่อน เพื่อขจัดปัดเป่าอุปสรรคสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นให้หมดไป นำมาแต่ความสำเร็จความเป็นสิริมงคลให้แก่พิธีและผู้ร่วมพิธี
องค์พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภและความงาม เชื่อกันว่า องค์พระแม่ลักษมีจะประทานความสำเร็จในการทำมาค้าขาย การประกอบกิจการ การเจรจาต่อรองต่างๆ และการประกอบธุรกิจทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนเรื่องโชคลาภ ท่านมักประทานโภคทรัพย์ เงินทอง สมบัติ แก่ผู้หมั่นบูชาพระองค์ ไม่แน่การไปบูชา “พระแม่ลักษมีเทวี” ในงานเทศกาลดิวาลีในครั้งนี้ อาจเปิดประตูสู่เส้นทางเศรษฐีมือใหม่ ก็ได้
นอกจากจะมีการไหว้สักการะขอพรแล้ว ยังสามารถ “จุดประทีป” แห่งแสงสว่างถวายได้อีกด้วย โดยบูธพิธีกรรมอยู่เลยเวทีหลักไปประมาณ 500 เมตร มีประชาชนทั้งชาวอินเดีย ชาวไทย และชาวต่างชาติให้ความสนใจ ต่อแถวเข้าสักการะอย่างต่อเนื่อง ชาวอินเดียเชื่อกันว่า การสักการะบูชาด้วย “ประทีป” หรือแสงไฟจะทำให้ผู้บูชา พบเจอกับแสงสว่างในชีวิต นอกจากนี้การจุดไฟหรือ “ทีป” ยังเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาของพระรามเทพในศาสนาฮินดู กลับอาณาจักร หลังจากถูกเนรเทศไปเป็นเวลา 14 ปี ซึ่งจะจัดตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 ทั้งยังเป็นการฉลองชัยชนะของฝ่ายธรรมมะกับอธรรมอีกด้วย โดยไฮไลต์ของงานนี้คือการ จุดประทีป ในคืนเดือนมืด เพื่อเป็นแสงสว่างแห่งชัยชนะ
“บอลลีวู้ดสไตล์” ก็น่าสนไม่แพ้กัน
ถัดจากพิธีสักการะเทพเจ้า มีการแสดงที่ต้องหยุดดูกันพักใหญ่ กับการแสดงแสง สี เสียงศิลปะพื้นเมืองของชาวอินเดีย เช่น โขนแดนซ์ การเต้นรำบูชาพระกฤษณะ การขับร้อง เต้นรำที่มีเนื้อหากล่าวถึงการเฉลิมฉลอง เรียกได้ว่า ยกเอาภาพ “บอลลีวู้ดสไตล์” ในสื่อมาให้เห็นกันชัดๆ ที่นี่เลยทีเดียว
Tattoo อินเดีย
ลอง Tattoo ชั่วคราวของชาวอินเดียดูสักครั้ง หรือที่รู้จักกันดีในการเขียน “Henna” ที่ชาวอินเดียเรียกว่า “เมเฮนดี” (Mehndi) มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต Medhika หรือต้นเฮนนานั่นเอง หรือที่ไทยเรียกว่า ต้นเทียนกิ่งขาว เป็นศิลปะการเพ้นท์ร่างกายอย่างหนึ่ง ที่มีความยาวนานกว่า 5,000 ปี โดยมีประวัติร่วมระหว่างอินเดีย แอฟริกา และเอเชียตะวันออก “พิธีเมเฮนดี” (Mehndi) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีที่เจ้าสาวจะต้องเข้าร่วมก่อนการแต่งงานของชาวอินเดีย เฮนนา เป็น 1 ใน 16 เครื่องประดับที่สำคัญของเจ้าสาวในการเข้าพิธีแต่งงาน
ส่วนผสมของเฮนนาที่สำคัญได้แก่ ใบหรือกิ่งของต้นเทียนกิ่งขาว น้ำตาลทรายขาว น้ำมะนาว น้ำมันใบเสม็ด น้ำอุ่น ข้อควรระวังคืออย่าพึ่งให้ลายเพ้นท์โดนน้ำระหว่าง 48 ชม.เพราะจะทำให้สีเพี้ยนได้
โดยเมื่อก่อนนั้นลวดลายที่ใช้เพ้นท์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเลียนแบบธรรมชาติได้แก่ ลายดอกไม้ ลายนกยูง ลายอักษรย่อชื่อเจ้าสาว เจ้าบ่าว ภายหลังมีการปรับประยุกต์ให้มีความเข้ากับสังคมสมัยใหม่มากขึ้น
การเพ้นท์เฮนนาใน“พิธีเมเฮนดี”(Mehndi) สื่อถึงความงดงามของเจ้าสาวและความรักที่ทั้งคู่มีให้กัน ทั้งยังเป็นตัวแทนของความมั่งคั่งร่ำรวย ที่เจ้าสาวจะนำมาสู่ครอบครัวของเจ้าบ่าวอีกด้วย
ส่วนการเพ้นท์นี้โดยรวมเชื่อว่า จะนำมาซึ่งความสมบูรณ์ ความสุข และความโชคดี แก่ตัวผู้เพ้นท์เปรียบดั่งการสวมใส่เครื่องประดับอันมีค่าของชาวอินเดีย
มาถึงที่ ต้องชิม ต้องช้อป
นอกจากพิธีกรรม ความเชื่อ และศิลปะการแสดงแล้ว ต้องไม่พลาดลิ้มรสอาหารอินเดีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องเทศ และความจัดจ้านของรสชาติที่ทำเอาหลายคนติดใจ อาทิ กะหรี่ปั๊บอินเดียที่ไส้ข้างในเป็นมันฝรั่ง รู้จักกันในชื่อ “ซาโมซ่า” หรือจะเป็น “มานี ปูรี” ที่ด้านในบรรจุไส้ทำจากมันฝรั่ง หัวหอม ถั่วชิกพี ราดด้วยมะขามรสหวานนิดๆ และน้ำปรุงปานีรสออกเปรี้ยวผสมเผ็ด ที่ไม่กินไม่ได้แล้ว และยังมีสินค้า จากชาวอินเดียอีกมายมาก ทั้งเสื้อผ้า ของใช้ และของตกแต่ง ”ปีใหม่อินเดีย” ที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งแสงสว่างความโชคดีที่รอให้ทุกคนไปเลือกสรรเป็นเจ้าของอีกมากมาย
บอกได้เลยว่า ต้อง! ลองไปเดินสักครั้ง นอกจากจะได้เสริมความปัง ความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองแล้ว ยังได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชาวอินเดียผ่าน อาหาร การแสดง และสินค้าอินเดียอย่างใกล้ชิดช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย โดยงานจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 21 - 23 ตุลาคม 2565 เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00-22.00 น. บริเวณคลองโอ่งอ่าง พาหุรัด สะพานเหล็ก
Advertisement