BRICS คือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ย่อมาจากตัวย่อของประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เริ่มต้นเมื่อปี 2006 ก่อนที่แอฟริกาใต้จะเข้าร่วมในปี 2010 โดยวัตถุประสงค์ของกลุ่มคือการนำประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญของโลกใบนี้ ท้าทายกับมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก
การประชุมที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่เมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย มีบรรดาผู้นำของชาติสมาชิกและหุ้นส่วนเข้าร่วม แต่สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามอง คือการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียนำทัพการประชุมดังกล่าว ท่ามกลางวิกฤตนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีปูติน ซึ่งกำลังทำสงครามอยู่ในยูเครน ส่งผลทำให้รัสเซียก็โดนนานาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
การที่จีนและรัสเซียเป็นผู้นำกลุ่ม BRICS จึงทำให้หลายฝ่ายอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามถึงความพยายามของกลุ่มความร่วมมือดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมกลุ่มมีขึ้นเพื่อท้าทายสหรัฐฯหรือไม่ และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง BRICS มีศักยภาพมากพอที่จะจัดระเบียบโลกใหม่หรือไม่
ระเบียบโลก เกิดจากประเทศที่มีอำนาจสูงสุดในแต่ละยุคสมัยเป็นผู้จัดเพื่อรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ให้กับตัวเอง หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ก็มีสหรัฐเป็นแกนนำ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จีนกับรัสเซียก็อยากจะจัดระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะดึงเอาประเทศที่เรียกว่า South คือประเทศกำลังพัฒนาหรือเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่ในท้ายที่สุดก็ยังไม่ชัดว่า BRICS จะมาแทนที่อะไรให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้ นอกจากเสนอว่า เป็นอีกเวทีหนึ่งในการค้าขาย ที่จะใช้เงินของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพ
แต่ถ้าถามว่า BRICS ท้าทายสหรัฐฯหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ท้าทายอเมริกาคือ จะทำอย่างไร ไม่ให้ประเทศโลกที่สาม ไปพึ่งพิงกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ขั้วใหม่ ถึงแม้ว่าจากการประชุมครั้งที่ 16 ครั้งสุดท้ายที่ผ่านมา ดร.ไชยวัฒน์จะมองว่า ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม นอกจากแนวความคิด ส่วนประเทศไทยนั้น การเข้าร่วม BRICS เหมือนเป็นทางเลือก ไม่ได้มีความเสียหายอะไร
ดร.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มองว่า สหรัฐฯมอง BRICS เป็นคู่แข่งอยู่แล้ว แต่สหรัฐฯเองก็พยายามเร่งทำงานเพื่อให้ระเบียบโลกยังคงอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกนั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ BRICS มีความเติบโต แต่การเติบโตของ BRICS ขึ้นอยู่กับการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและรัสเซียเป็นสำคัญ แต่การที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรเพราะทำสงคราม ก็ทำให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ส่วนจีน ตัวเลขทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา หลังโควิดก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของจีน
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ระเบียบโลกยังไม่เปลี่ยนแปลง ก็คือนโยบายของสหรัฐฯ สำหรับการเลือกตั้งสหรัฐฯที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ หรือกมลา แฮร์ริส ทั้งล้วนล้วนมีนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนทั้งนั้น สมัยสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ยุคทรัมป์ จีนได้รับความเสียหายค่อนข้างหนัก แต่แฮร์ริสเองก็มีนโยบายจะตั้งกำแพงภาษีจีนเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร นโยบายของทั้งสองคนก็จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นก็จะนำไปสู่ปัญหาการเติบโตของ BRICS ด้วย