การประมงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และวัฒนธรรมในหลายพื้นที่ รวมถึงประเทศไทย และยังเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลมากที่สุด การประมงจึงเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เราควรสำรวจผลกระทบความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
ประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมาพูดระหว่างการประชุมผู้นำการประมง 10 ประเทศในละตินอเมริกา ที่จัดโดยกลุ่มพันธมิตรละตินอเมริกันเพื่อการประมงยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร (The Latin American Alliance for Sustainable Fisheries and Food Security: ALPESCAS) ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน 2568 ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู
การประมงเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในละตินอเมริกาเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศเปรู ชิลี และเอกวาดอร์ ในรายงานปี 2024 ของ FAO ชี้ว่า ละตินอเมริกาผลิตผลผลิตทางประมงกว่า 17.7 ล้านตัน หรือราว 8% ของผลผลิตทั้งโลก
ระหว่างการประชุม มีประเด็นสำคัญหลายประเด็นถูกยกขึ้นมา อย่างความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับภาคการประมงเปรู และเน้นย้ำความสำคัญของการมี “การประมงยั่งยืน” รวมถึงการลดผลกระทบที่เกิดจากภาคการประมง
หนึ่งในการทำการประมงอย่างไม่ยั่งยืนคือการประมงเกินขนาด แม้ว่าเกิน 50% ของสัตว์น้ำที่เราบริโภคกันทุกวันนี้จะเป็นผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง แต่ก็ไม่ใช่ว่าอาหารทะเลหรือสัตว์น้ำทุกชนิดจะเพาะเลี้ยงได้ การประมงเกินขนาด มากเกินไป เร็วเกินไป จนเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ อาจส่งผลให้ประชากรสิ่งมีชีวิตในทะเลลดลง และส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล และนำมาสู่การสูญเสียรายได้ของผู้ผลิตเองหากสายพันธุ์สัตว์น้ำที่เป็นแหล่งเงินนั้นสูญพันธุ์ไป
จึงควรมีการศึกษาจำนวนประชากรสัตว์น้ำในทะเล และผลรวมการจับสัตว์น้ำจากการทำประมงของเรือหลายลำ สำหรับประเทศไทย ประมงอวนลากเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ EFJ ไว้ว่า ไม่ควรมี เพราะเป็นการทำประมงที่ทำลายล้างมาก จับสัตว์น้ำทุกชนิดโดยไม่เลือก ไม่ใช่แค่สัตว์น้ำเป้าหมาย
การทำประมงลักษณะนี้ นอกจากจะเป็นการทำประมงเกินขนาด ยังอาจก่อให้เกิดการจับสัตว์น้ำพลอยได้ ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย อย่าง ฉลาม เต่า นกทะเล ที่ขายไม่ได้ แล้วเอาไปทำอะไรไม่ได้นอกจากทิ้งให้ตาย และเป็นการทำลายแนวปะการัง รบกวนตะกอนและเลน ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เรียกว่าเป็นการทำประมงแบบทำลายล้างด้วย
แห อวน ระเบิดปลา วิธีการทำประมงลักษณะนี้พบได้ในไทย และพบด้วยว่า มีพลังในการทำลายที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์น้ำสูงมาก แหล่งที่อยู่อาศัยที่ถูกทำลายมีอีกหน้าที่คือเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ เป็นที่หลบภัย และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำแรกเกิดมากมายหลายชนิด ราคาของการทำประมงลักษณะนี้มีค่าใช้จ่ายระยะยาว เพราะจะส่งผลต่อระบบนิเวศเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้การทำฟาร์มสัตว์น้ำยังเป็นอีกกิจกรรมที่ส่งผลต่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะฟาร์มที่เลี้ยงในกระชังและบ่อน้ำชายฝั่ง การเติบโตของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำริมชายฝั่งทำให้ป่าชายเลนถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือการควบคุมบริเวณการสร้างฟาร์มสัตว์น้ำริมชายฝั่ง ให้จำกัดไว้แค่บางพื้นที่ และฟื้นฟูแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำริมชายฝั่งขึ้นใหม่
การเพาะเลี้ยงปลาบางครั้งอาจไม่ได้ลดความเข้มข้นในการจับปลาทะเลเสมอไป แต่หลายครั้งที่ “ปลาทะเล” ถูกจับมาเป็นอาหารของปลาเลี้ยงแทน โดยเฉพาะปลาเลี้ยงกินเนื้ออย่างแซลมอน หรือกระพง ปลากินเนื้อเหล่านี้มักพึ่งพาปลาซาร์ดีน แอนโชวี่ หรือปลาอื่นๆ ที่ชาวประมงจับมา สิ่งนี้อาจนำไปสู่การทำประมงเกินขนาดและสร้างความกดดันให้แก่ประชากร “ปลาเหยื่อ” ได้
ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้อาหารทางเลือก อย่าง แมลง สาหร่าย หรือปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ อย่าง ปลานิลหรือปลาดุก เพื่อลดการพึ่งพาอาหารจากปลาและน้ำมันปลา
ปลามากมายว่ายวนในบ่อเลี้ยงรวมกันย่อมเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและปรสิต ผู้เลี้ยงบางคนจึงหันไปหาสารเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ และไม่ใช่แค่สารเคมีป้องกันโรค แต่ปลามากมายที่อาศัยรวมกันเองก็ผลิตมูลของเสียมากมายที่เป็นพิษแก่น้ำได้
สารเคมี ยาฆ่าแมลง มูลปลา เหล่านี้ผู้เพาะเลี้ยงหลายรายปล่อยออกสู่แหล่งน้ำใกล้เคียง ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ อาจก่ออันตรายต่อสัตว์น้ำในพื้นที่หรือตกค้างสู่มนุษย์ได้ในที่สุด ทางออกที่ดีกว่าจึงเป็นการลดของเสียตั้งแต่ต้นตอ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และจัดการของเสียอย่างมีความรับผิดชอบ เพิ่มพื้นที่การเพาะเลี้ยง เพื่อลดความแออัด ใช้บ่อหรืออุปกรณ์การเลี้ยงที่มีระบบจัดการน้ำและของเสีย เช่น บ่อตะกอนกลางเพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยน้ำออกไปหรือก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
ในหลายประเทศ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่เข้มงวดก่อนปล่อยน้ำออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อย่างไรก็ตามสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ที่การประมงเป็นธุรกิจของชาวประมงรายย่อย การบังคับใช้อาจทำได้ยากกว่า
ตัวอย่างการบำบัดน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โดดเด่น คือฟาร์มกุ้งลายเสือที่เวียดนาม ที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายย่อยเป็นหลักเช่นเดียวกัน แต่เป็นผู้ส่งออกกุ้งลายเสืออันดับหนึ่งของโลก ที่ Seafood Watchdog เริ่มโครงการเก็บข้อมูลจากชาวประมงรายย่อย และเปิดทางให้องค์การและกลุ่มทุนต่างๆ อย่าง Monterey Bay Aquarium เข้าไปสนับสนุนชุมชนได้ และหาตลาดยั่งยืนให้ชุมชนส่งสินค้าไปขายได้โดยตรง
ทุกปี ปลากว่า 26 ล้านตันกลายเป็นผลผลิตของการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU fishing การจับปลาผิดกฎหมายคิดเป็น 20% ของการจับปลาทั่วโลก และสร้างรายได้กว่า 36,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ลักษณะการจับปลาผิดกฎหมายมีตั้งแต่ การจับปลาโดยไม่มีใบอนุญาต การจับปลาในพื้นที่ต้องห้าม การใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย การจับปลาเกินโควตา การไม่รายงานผลการจับปลาหรือรายงานไม่ถูกต้อง และการทำประมงในพื้นที่ที่ไม่มีการจัดการ หรือไม่มีสัญชาติ
การทำประมงผิดกฎหมายเป็นสาเหตุหลักของการทำประมงเกินขนาด และแนวทางในการทำประมงอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น และยังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐบาลสูญเสียภาษีจากค่าธรรมเนียมและใบอนุญาต และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
การจัดการ IUU Fishing อาจทำได้ด้วยการใช้ระบบติดตามเรือ บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด มีการลงโทษเหมาะสม แต่เนื่องจากการทำประมงส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นที่นิยมกว่าในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยังไม่พัฒนา ซึ่งไม่น้อยที่พึ่งพิงชุมชนประมง และผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้การบังคับใช้เป็นไปได้ยาก การเข้าถึงชุมชน ให้ความรู้ และสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืนจึงเป็นอีกทางที่เพิ่มเข้ามา
อุตสาหกรรมการประมงเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่รวมเอาปัญหาสิทธิมนุษยชนมารวมไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานบังคับ แรงงานทาส การใช้แรงงานเด็ก แรงงานเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม สิทธิผู้หญิง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการกำหนดชีวิตตนเอง และอีกมากมาย ล้วนเป็นปัญหาที่พบได้ในอุตสาหกรรมนี้
สำหรับประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอย่างไทย ข้อมูลจากกรมการประมงชี้ว่า การประมงทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 2 ล้านงานทั่วประเทศ ปัญหาสิทธิมนุษยชนยังคงแพร่หลาย เดือนมกราคมปีก่อน เครือข่ายภาคประชาสังคมจัดเสวนาทบทวนนโยบายการประมงไทยฉบับใหม่ที่มีความเสี่ยงเพิ่มการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การยกเลิกจ่ายเงินเดือนให้แรงงานข้ามชาติผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นวิธีการที่ตรวจสอบการให้ค่าแรงได้ หรือความพยายามปรับอายุให้เด็กต่ำกว่า 18 ปีเข้ามาทำงานในเรือประมงได้ หรือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรผ่านโควต้าการจับสัตว์น้ำที่ต่างกันของประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้าน ที่ทำให้ชุมชนไม่สามารถสู้กับนายทุนได้
ปัญหาการค้ามนุษย์เองก็เป็นปัญหาที่ปรากฏในอุตสาหกรรมการประมงเสมอ และเป็นที่สนใจตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และนำให้ไทยตกเป็นเป้าหมายการตรวจสอบจากนานาชาติ เมื่อปี 2558 สหภาพยุโรปขู่ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยหากไม่มีการปฏิรูปอุตสาหกรรม ขจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง ได้รับ “ใบเหลือง” เป็นการเตือนว่าอาจหมดสิทธิส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรป
รายงานจาก Human Rights Watch ชี้ว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเมียนมา และกัมพูชามักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการประมงไทย (รายงานจาก International Justice Mission ชี้ว่าราว 1 ใน 3 ของแรงงานประมงข้ามชาติเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และ 3 ใน 4 ต้องทำงานอย่างน้อยวันละ 16 ชั่วโมง) พวกเขามักถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา หรือได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลงไว้ อีกทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย
นอกจากอุตสาหกรรมประมงที่ดำเนินการอย่างไม่ยั่งยืน อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อย่างประชากรสัตว์น้ำ ระบบนิเวศทางทะเล และมลพิษทางน้ำแล้ว ยังเป็นแหล่งกบดานของปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายแขนงที่เราพูดถึงในบทความได้เพียงเศษเสี้ยว อุตสาหกรรมประมง แม้จะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ รวมถึงกิจกรรมอื่นของมนุษย์ ก็ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอยู่ ขึ้นอยู่กับวิธีการทำประมงและชนิดของปลาที่เพาะเลี้ยงปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแตกต่างกันไป และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิในทะเลเพิ่มขึ้น สัตว์น้ำทั้งที่เพาะเลี้ยงและเติบโตตามธรรมชาติได้รับผลเป็นวงกว้าง เราจึงจำเป็นต้องมีแผนการจัดการที่เป็นนวัตกรรม มีความยืดหยุ่น และยึดแนวทางระบบนิเวศ โดยคำนึงถึงสภาวะทะเลที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
แหล่งที่มา: Aquafeed, FAO กรมการประมง, montereybayaquarium