หมอมนูญ เผยเคส หญิงไม่สูบบุหรี่แต่เป็นมะเร็งปอด ระยะแพร่กระจาย ผ่าตัดไม่ได้ หลังให้ยารักษามะเร็งตัวใหม่ ผู้ป่วยตอบสนองดี ลุ้นขึ้นทะเบียนในไทย
วันที่ 29 มิ.ย.66 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก
หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า
"ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 69 ปี แข็งแรงดี ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว เอกซเรย์ปอดประจำปีพบก้อนในปอดข้างขวาด้านบนขนาด 2.2 × 2.7 × 2.5 เซนติเมตร (ดูรูป) ทำคอมพิวเตอร์ปอดพบต่อมน้ำเหลืองในช่องตรงกลางในทรวงอกโต ทำ PET scan ยืนยันก้อนในปอดและต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องตรงกลางในทรวงอก เจาะก้อนในปอดข้างขวา พบมะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma ส่งตรวจการกลายพันธุ์ของยีนพบ EGFR exon 20 insertion mutation
สรุป: เป็นมะเร็งปอดระยะแพร่กระจายแล้ว ผ่าตัดไม่ได้ เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มียามุ่งเป้าที่ใช้กับยีนกลายพันธุ์ชนิดนี้ จึงได้เริ่มยาเคมีบำบัดตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2565 โดยให้ยาเคมีบำบัด ALIMTA และ Carboplatin ทั้งหมด 8 ครั้ง ก้อนในปอดเดือนตุลาคม 2565 ขนาดเล็กลง (ดูรูป)
ต่อมาเดือนมกราคม 2566 กลับโตขึ้นอีก (ดูรูป) เนื่องจากยาเคมีบำบัดใช้ไม่ได้ผลแล้ว ให้คนไข้เข้าโครงการช่วยเหลือให้เข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งตัวใหม่ Mobocertinib (Exkivity) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ขนาด 40 มก. กิน 4 เม็ดวันละครั้งทุกวัน เริ่มเดือนเมษายน 2566 ระยะแรกมีผลข้างเคียงเล็กน้อย มีผื่นและแผลในปาก หลังปรับยาเหลือ 3 เม็ดวันละครั้ง ผลข้างเคียงลดลง เดือนมิถุนายน 2566 หลังกินยา 2 เดือน ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาตัวใหม่นี้ดีมาก เอกซเรย์พบก้อนในปอดขนาดเล็กลงมาก (ดูรูป) ต้องติดตามต่อไปว่า ยาตัวใหม่นี้จะใช้ได้ผลนานแค่ไหน
Mobocertinib เป็นยาชนิดกินตัวแรกของโลกที่มีเป้าหมายการออกฤทธิ์ต่อยีน EGFR ที่เกิด exon 20 insertion mutation ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และจีนสำหรับใช้รักษามะเร็งปอดชนิด non small cell lung cancer ชนิดที่พบ EGFR exon 20 insertion mutation ซึ่งโรคอยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจาย หลังได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสูตรที่มีแพลทินัมแล้วไม่ได้ผล ยาตัวนี้กำลังรอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย