รู้จัก โรคไข้ดิน หรือ โรคเมลิออยด์ โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินและน้ำ ระบาดหนักช่วงฤดูฝน หากติดเชื้อในกระแสเลือดอาจทำให้ถึงตายได้
โรคไข้ดิน หรือ โรคเมลิออยด์ (Melioidosis) พบมากในฤดูฝนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินและน้ำสามารถพบได้ทั่วประเทศไทย ความรุนแรงของโรคทำให้เสียชีวิตได้ หากติดเชื้อในกระแสเลือด ตัวเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ ผ่านทางผิวหนัง เช่น หากมีบาดแผลและเดินบนดินหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผ่านทางลมหายใจ กรณีที่มีการฟุ้งของฝุ่นหรือดินที่มีเชื้ออยู่และสูดดมเข้าไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด จะส่งผลให้เกิดอาการปอดอักเสบ
กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคไข้ดิน
กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโลหิตจางหรือทาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี รวมถึง คนไข้โรคมะเร็งบริเวณต่าง ๆ และกลุ่มเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับดินและน้ำด้วยเท้าเปล่า
การติดเชื้อโรคไข้ดิน
การติดเชื้อโรคไข้ดิน ก่อให้เกิดอาการหลายลักษณะ ได้แก่
• การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง
อาจทำให้เกิดอาการแผลเรื้อรัง เกิดฝีหรือหนองตามผิวหนัง และอาจมีตุ่มขึ้น เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรีย หากรับเชื้อผ่านทางน้ำลาย เช่น การรับประทาน จะทำให้ติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย มีลักษณะบวมขึ้นมาเป็นฝีหรือหนอง หรืออาจบวมบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ มีอาการกดเจ็บได้
• การติดเชื้อในปอด
จะทำให้มีอาการไข้ขึ้น และอาการทางเดินหายใจ ไอ มีเสมหะ หากนำเสมหะมาตรวจดูอาจพบเชื้อได้ และหากเอกซเรย์ที่ปอดอาจพบก้อนหนอง บางครั้งแพทย์สับสนระหว่างวัณโรค
• การติดเชื้อในกระแสเลือด
เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนังหรือปอด เช่น กรณีที่มีบาดแผล เชื้ออาจเข้าทางบาดแผลและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก เป็นฝีในตับหรือในม้าม สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากการติดเชื้อตามที่กล่าวมา ยังมีการติดเชื้อชนิดเรื้อรังอีกหนึ่งประเภทในโรคไข้ดิน
การรักษาโรคไข้ดิน
การวินิจฉัยโรคช้าเกินไปทำให้รักษาไม่ทันเวลา ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตตามมา เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดภาวะไตวาย หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ทำให้อวัยวะอื่นทำงานบกพร่องไป การได้รับยาไม่ถูกชนิดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้
โรคไข้ดินสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการวินิจฉัยถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะใน 2 สัปดาห์แรกด้วยวิธีฉีด หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาชนิดกินต่อไปเป็นเวลา 5 เดือน หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจให้ยาเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม
การป้องกันโรคไข้ดิน
• หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน
• หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ตหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง
• กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ
• หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ
• ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
• หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อแพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค
Advertisement