องคมนตรีร่วมปล่อยขบวนรถไฟขนส่งผลิตผลโครงการหลวงสู่ภาคใต้ ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ สุดยอดนวัตกรรมจากกองทุน ววน. ช่วยยกระดับห่วงโซ่สินค้าเกษตรได้ทั้งระบบ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมพัฒนาระบบขนส่งผลผลิตการเกษตรทางรางของไทยผ่าน “โครงการพัฒนาตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง สำหรับการจัดการโลจิสติกส์โซ่ความเย็นของผลิตผลทางการเกษตรตามเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ.2566 จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ภายใต้การจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)พร้อมร่วมพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งผลิตผลโครงการหลวงสู่ภาคใต้ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง รอบปฐมฤกษ์ ณ สถานีรถไฟลำพูน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยมี พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในพิธีเปิด
พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มต้นจากการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีเพาะปลูก การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่สูงให้ปลูกพืชที่เน้นความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการกระจายสินค้าที่ดีด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตผลของเกษตรกรจากพื้นที่สูงยังคงคุณภาพที่ดีจนถึงมือผู้บริโภคและมีต้นทุนที่เหมาะสม สามารถแข่งขันได้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการจัดทำโครงการพัฒนาตู้คอนเทนเนอร์ฯ ในครั้งนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนให้การรักษาคุณภาพสินค้าเกษตรกรได้นานขึ้น และเหมาะสมกับการใช้งาน สำหรับการทดสอบขนส่งสินค้าเกษตรของโครงการหลวงจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญและเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่สินค้า เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพสินค้า
รูปแบบการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของไทยด้วยระบบราง ภายใต้การประสานงาน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนให้กว้างขวางขึ้น และหากมีการขยายผลให้มากขึ้นก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแลกเปลี่ยนและเพิ่มโอกาสการกระจายสินค้าของเกษตรกรในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริมน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ดังนั้น โครงการพัฒนาตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูงฯ
จึงเป็นโครงการที่ สกสว. มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อภาคเกษตร เพื่อช่วยยืดอายุผลิตผล ลดการใช้พลังงาน ลดการเกิดของเสียจากการจัดเก็บและขนส่งผลิตผล และรองรับการขนส่งทางราง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลง ลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง และการปล่อยมลพิษ ตามโมเดลเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน หรือ Circular Economy นอกจากนี้ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง ได้ถูกพัฒนาขึ้นให้มีความสามารถในการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับแบบเรียลไทม์ สามารถระบุเวลา แจ้งเตือนการเข้า-ออกพื้นที่ วัดและบันทึกข้อมูลด้านการรับรู้ทางกายภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่ออายุและความสมบูรณ์ของผลิตผลด้วยเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ได้แก่ การสั่นสะเทือน การไหลของลมเย็น ความเข้มข้นของเอทธิลีน การระบุตำแหน่ง และมีระบบสนับสนุนการตัดสินใจ สำหรับการตั้งค่าและทำนายสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วยศาสตร์การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
ทั้งนี้ “โครงการพัฒนาตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง สำหรับการจัดการโลจิสติกส์โซ่ความเย็นของผลิตผลทางการเกษตรตามเศรษฐกิจหมุนเวียน” ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (หรือ รฟท.) มูลนิธิโครงการหลวง ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (หรือ สทร.)
บริษัท พงศ์เทพ รุ่งเรือง เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เคซี เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด และบริษัท ไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด ในการพัฒนายกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ผลิตผลทางการเกษตรโครงการหลวงให้มีประสิทธิภาพ ผ่านขบวนรถไฟตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งผลการดำเนินงานของโครงการฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่หลายภาคส่วน อาทิ การต่อยอดเทคโนโลยีห้องเย็น ให้มีความเหมาะสมกับระบบการขนส่งทางรางได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นก้าวใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยด้วยต้นทุนที่ลดลง รวมถึงสร้างโอกาสในการกระจายสินค้าให้แก่เกษตรกรในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น พัฒนาและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรของประเทศ อีกด้วย”.
Advertisement