มองแผลเป็นผ่านฟิล์ม ย้อนรอย 27 ปี “วิกฤตต้มยำกุ้ง” การล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายไปอีกหลายประเทศในเอเชีย หายนะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลตัดสินใจประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” สู่การเป็นหนี้ก้อนโตจากการขอยืมเงิน IMF
“วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540” ไทยวิปโยค บ้านเมืองย่อยยับ ประชาชนกระอักเลือด ตกงาน ล้มละลาย และนำไปสู่โศกนาฏกรรมแสนเศร้า เมื่อคนขอลาโลก ดีกว่าอยู่สู้ต่อไปอย่างไร้ความหวัง โดยวงการบันเทิงไทยได้สะท้อนภาพเหล่านั้นผ่านผลงาน ภาพยนตร์ ละคร และบทเพลง ซึ่ง Amarin Online พาคุณไปย้อนชมดังนี้
กระทรวงสาธารณสุขเปิด สถิติคนฆ่าตัวตาย ช่วงปี 2540-2542 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.12 และ 8.59 คนต่อแสนประชากร
IMF (International Monetary Fund) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 จากการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference หรือที่รู้จักในนาม Bretton Woods Conference โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา และมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
ประเทศไทยกู้ IMF มาแล้ว 5 ครั้ง ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431 ล้าน SDR โดยครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2521 จำนวนเงิน 45.25 ล้าน SDR ครั้งที่สองเมื่อเดือนมิถุนายน 2524 จำนวน 814.5 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 345 ล้าน SDR) ครั้งที่สามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 จำนวน 271.5 ล้าน SDR ครั้งที่สี่เมื่อเดือนมิถุนายน 2528 จำนวน 400 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 260 ล้าน SDR) และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำนวน 2,900 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 2,500 ล้าน SDR) ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
“เรื่องตลก 69” เข้าฉาย 19 พฤศจิกายน 2542 กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง
เรื่องตลก 69 สะท้อนภาพปัญหาการว่างงาน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหายาเสพติด และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวภาพยนตร์เล่าเหตุการณ์ในภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำยุคฟองสบู่แตก หรือ วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง 2540 ผ่านเรื่องราวของ “ตุ้ม” พนักงานสาวประจำบริษัทการเงินแห่งหนึ่งที่ถูกปลดออกจากงานเพราะปัญหาเศรษฐกิจ
โดย “หมิว ลลิตา ปัญโญภาส” รับบทเป็น “ตุ้ม” ภาพจำในหนังคือ จับเซียมซีแล้วโดนเชิญออก เมื่อชีวิตเล่นตลก จู่ๆ มีคนนำ กล่องที่เต็มไปด้วยเงินสดจำนวนมหาศาล มาวางไว้หน้าห้องพักหมายเลข 6 เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นห้องหมายเลข 9 ซึ่งบังเอิญหมายเลขห้องพลิกตกกลับหัว “ตุ้ม” จึงต้องตกไปอยู่ในเรื่องราวของอาชญากรรมโดยไม่ตั้งใจ
“เพื่อน..ที่ระลึก” เข้าฉาย 7 กันยายน 2560 จากค่ายหนังดัง GDH กำกับโดย จิม โสภณ
เพื่อน..ที่ระลึก หนังผีที่มีเส้นเรื่องมาจากยุค “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 เป็นเรื่องของ “บุ๋มและอิ๊บ” ที่โตในยุคเศรษฐกิจล่มสลาย บ้านของทั้งสองคนก็ล้มละลาย ทั้งคู่จึงตัดสินใจไปฆ่าตัวตายที่ตึกสาธร สัญญาจะอยู่ด้วยกันตลอดไป
เมื่ออีกคนกระโดดตึกไปแล้ว แต่อีกคนกลับกลัวขึ้นมาจึงหนีแล้วไปมีชีวิตใหม่ ผ่านไป 20 ปี การทวงสัญญาของเพื่อนรักที่จากไปก็ได้เริ่มขึ้น
“18 ฝนคนอันตราย” เข้าฉาย 14 พฤศจิกายน 2540 บทภาพยนตร์และกำกับโดย พจน์ อานนท์
18 ฝนคนอันตราย สะท้อนภาพปัญหาความรุนแรง ความเลวร้ายในสังคมยุคนั้น ทั้งปัญหายาเสพติด การคอรัปชั่น และการข่มขืน เล่าเรื่องราวผ่านชีวิตวัยรุ่นที่ต้องก้าวไปสู่วัยผู้ใหญ่ผ่านชะตากรรมโหดร้าย กับคำถามว่า ต้องแบบไหนที่เรียกว่า คนดี
แสดงนำโดย ต๊ะ-ฌานิศ ใหญ่เสมอ, โด่ง-สิทธิพร นิยม, ต่อ-นันทวัฒน์ อาศิรพจน์กุล และ นิคกี้-สุระ ธีระกล กับชีวิตที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุก ติดยาเสพติด หลังออกมาจากคุกหวังจะเป็นคนดี แต่น้องสาวถูกกลุ่มทรชนรุมข่มขืน ทำให้ต้องเดินกลับมาสู่เส้นทางแห่งความรุนแรงอีกครั้ง
“ชายไม่จริงหญิงแท้” ละครออนแอร์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541
ละคร ชายไม่จริง หญิงแท้ เป็นละครโทรทัศน์แนวโรแมนติก-คอมเมดี นำแสดงโดย แหม่ม คัทลียา แมคอินทอช และ ดู๋-สัญญา คุณากร
เรื่องราวของความสู้ชีวิตของหญิงสาวที่มาทำงานในกรุงเทพแล้วต้องส่งเงินไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด แต่บริษัทต้องล้มละลาย ไล่พนักงานออก เธอต้องสู้ยิบตาในการดิ้นรนหาเงินท่ามกลางเศรฐกิจย่ำแย่ จนสุดท้ายตัดสินใจปลอมตัวเป็นกะเทย เพื่อเข้าประกวดชิงเงินรางวัลจากเวที Miss Queen Beauty
“ไม่ได้อยากออกเลย น้องเอย น้องเอย เขาเชิญ ให้ออก
เจ้านายเขาบอก เขาบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี”
เพลง เศรษฐกิจหารสอง ศิลปิน “ก๊อท จักรพันธ์” จากอัลบั้ม ก๊อต ลูกทุ่งไทยแลนด์ ชุดที่ 1 ที่ออกในปี 2541 โดยมีเนื้อร้องติดหู คนร้องตามติดปากทั่วบ้านทั่วเมือง อธิบายถึงเศรษฐกิจในยุคต้มยำกุ้งได้ถึงอารมณ์ เช่นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งร้องว่า
“ปีนี้ไม่ได้แต่งอย่างคิด เงินบาทเป็นพิษ เครดิตไม่ดี ของขวัญจะซื้อให้น้อง เดี๋ยวนี้นมกล่องจะกินยังไม่มี อนาคตก็ยังไม่ชัวร์ เงินบาทลอยตัว สินสอดเลยลอยหนี”
Advertisement