กาสรกสิวิทย์ โรงเรียนสอนควาย เรียนรู้วิชาคน วิชาควาย วิชาชีวิตชาวนาไทย คืนศักดิ์ศรีให้ควายไทย เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ แหล่งความรู้ของคน และของควาย สอนให้เกษตรกรเรียนรู้วิชาการทำนา โดยใช้ควายจริงแทนควายเหล็ก เรียนที่นี่ ควายจะต้องรู้จักคน คนจะต้องรู้จักควาย พึ่งพากันได้แบบยั่งยืน
• กาสรกสิวิทย์ คืนชีวิตชาวนา รักษาศักดิ์ศรีควายไทย
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ กาสร หมายถึง กระบือ กสิวิทย์ หมายถึง องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรม โดยเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนา และทำงานด้านการเกษตรกรรม ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้นเพื่อสอนให้ผู้ต้องการใช้กระบือทำการเกษตร ให้สามารถทำงานร่วมกับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลกระบือให้มีสุขภาพแข็งแรง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาท่องเที่ยวและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีเกษตรกรรมไทย
• หลักสูตร วิชาคน วิชาควาย ควายจะต้องรู้จักคน คนจะต้องรู้จักควาย
นายสวรรค์ บุญชู ผู้จัดการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เผยว่า การสอนควายไถนาจำเป็นจะต้องสอนแบบตัวต่อตัว คนต่อคน เพราะฉะนั้นเกษตรกรแต่ละรุ่นที่จะมาฝึกอบรมจะมีแค่ 8 คน เพราะมีปราชญ์ผู้สอนอยู่ 8 คน ควายจะต้องรู้จักคน คนจะต้องรู้จักควาย โดยจะต้องอบรมติดต่อกันนาน 10 วัน โดยวันสุดท้ายจะเป็นการสอบ ให้ควายหันซ้าย หันขวา ให้เดินหน้า ให้หยุดได้ จึงจะถือว่าผ่าน หากไม่ผ่านก็ต้องซ่อมใหม่ หมายถึงเกษตรกรต้องอยู่อบรมต่อจนกว่าจะผ่านหลักสูตร
ในทุกๆเดือน เกษตรกรที่สมัครเข้ามาอบรมจะนำควายของตัวเองเข้ามาฝึกด้วย โดยจะมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ วันแรกของทุกคนจะต้องเริ่มที่การรู้จักควายไทยและการใช้ประโยชน์ วิธีดูลักษณะควายตามภูมิปัญญาไทย และการคัดเลือกควายไว้ใช้งาน หัวใจที่สำคัญคือ วิชาที่ว่าด้วยการเรียนรู้วิถีของบรรพบุรุษ และการทำนาแบบดั้งเดิม ผ่านวิชาการสอนการใช้ควาย การใช้ภาษาควาย การสื่อสารกับควาย รวมถึงการรู้จักและการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการทำนาทุกชนิด ซึ่งวันแรกจะเป็นเรื่องภาคทฤษฎีทั้งหมด ก่อนที่จะเริ่มภาคปฏิบัติในวันต่อมา
• วิธีสื่อสารและการใช้เชือกบังคับควายในการไถนา
- วิธีการไล่ควายให้เดินหน้า จะใช้การกระตุกเชือกลง พร้อมส่งเสียง "ฮึ่ยๆ" ควายก็จะเดินไปข้างหน้า
- วิธีการให้ควายเลี้ยวซ้าย ให้ดึงเชือกแรงๆ ให้หน้าควายหันมาทางซ้าย พร้อมกับบอกว่า "ฮ้องๆ" ควายก็จะหันหน้าไปทางซ้ายมือ
- วิธีการให้ควายเลี้ยวขวา สะบัดเชือกให้โดนข้างลำตัวของควาย พร้อมกับบอกว่า "พัดๆ" ควายก็จะหันหน้าไปทางขวามือ
• วิธีการไถนา
- การไถดะ จะจับหัวคันนาแล้วไถวนไปทางซ้ายมือ ประโยชน์คือช่วยกำจัดวัชพืช ไม่ให้เน่า
- การไถแปร จะวนตั้งแต่กลางลูกงานแล้ววนไปทางขวา ประโยชน์คือช่วยกลบหน้าดิน เอาวัชพืชที่เน่าเปื่อยแล้วขึ้นมา อันไหนไม่เน่าก็เอาลงไปใหม่
- การฝึกคราดดิน การคราดให้หน้าดินมีความเสมอกัน
- การฝึกตีลูกทุบ ใช้ลูกทุบตีวัชพืชลงไปในดิน จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการดำนา
• จุดเริ่มต้นจากรถไถ มาสู่การใช้ควายไถนา ที่เจอคนด่าว่า โง่!
ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีทางการเกษตรได้เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร "ลุงปิ่น พุฒศิ" ชาวนาวัย 50 ปี แห่งบ้านหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ยังเป็นชาวนาเพียงไม่กี่คนที่ยังใช้ควายไถนาแทนการใช้ควายเหล็กในการทำเกษตรกรรม เพราะชีวิตผูกพันกับควายมาตั้งแต่เด็กๆ เรียนจบ ป.4 แม่ก็ให้ไปเลี้ยงควาย ตอนเช้าเอาควายไปส่งพ่อ ตอนเย็นก็รับควายกลับบ้าน จนเกิดเป็นความรักกันมาตั้งแต่นั้น
ลุงปิ่น เล่าว่าเมื่อปี 2536 ตนเลิกใช้ควายไถนา หันไปซื้อรถอีแต๊กมาใช้แทน ไถนาตั้งแต่น้ำมันลิตรละ 8 บาท น้ำมันก็ขึ้นราคาขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าไม่มีเงินก็ต้องไปหยิบยิมเพื่อเอามาซ่อมรถไถ มาซื้อน้ำมัน จนกระทั่งปี 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีโครงการใช้ควายไถนา ทรงตั้ง "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" แล้วพระราชทานกระบทอให้กับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้อบรมที่โรงเรียนแล้วนำกลับมาใช้ทำการเกษตร
ลุงปิ่น เข้าไปอบรมเกษตรกรที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ในวันที่ 2 มิถุนายน 2552 เป็นรุ่นที่ 4 ฝึกอบรมเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 10 วัน ลุงปิ่นบอกว่าปกติต้องหาเงินมาซื้อน้ำมันเติมรถไถ แต่พอใช้ควายจะไถนาก็ทำได้เลย ตอนแรกบางคนเหน็บแนมว่าโง่บ้าง ยากจนบ้าง บอกว่าใช้ควายไถนามันไม่ทันกิน แต่ตนไม่คิดแบบนั้นเพราะควายไถฟรี แถมมูลของมันก็ยังเอามาทำปุ๋ยได้อีกด้วย ช่วยอุ้มน้ำอุ้มดินให้นา ให้สวนอุดมสมบูรณ์ตลอดเวลา
• คนรุ่นใหม่หัวใจรักควาย ร่ำเรียนวิชาเอามาพัฒนาบ้านเกิด
นายสิทธินันท์ ศรีจันทร์ เกษตรกรรุ่นใหม่ ลูกศิษย์โรงเรียนกาสรกสิวิทย์รุ่นที่ 103 เผยว่า หลังจากตัดสินใจเข้าอบรมที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ โดยใช้ควายของตัวเองไปร่วมอบรมด้วย เมื่อกลับมายังบ้านเกิดก็ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้กับที่นาของตัวเอง โดยมีเจ้าหน้าที่การเกษตร กรมปศุสัตว์ และอื่นๆ มาช่วยในเรื่องของการทำการเกษตร ก่อนหน้านี้ ตนบังคับควายไม่ค่อยได้เพราะไม่ได้เรียน ไม่ได้รู้หลักการ ไม่รู้การบังคับเชือก แต่พอหลังเรียนก็ดีขึ้นสื่อสารและเข้าใจกันได้
การใช้ควายไถนาทำให้ประหยัดเงิน ถ้าจ้างรถไถจะตกไร่ละ 250 บาท ซึ่งจะต้องไถทั้งหมดไร่ละ 3 รอบ คือ ไถดะ ไถแปร ไถคราด ค่าใช้จ่ายตกรอบละ 750 บาทต่อไร่ แต่การใช้ควายไถนาไม่ได้เสียอะไรสักบาท ส่วนเรื่องปุ๋ยก็ประหยัด หาไปซื้อกระสอบหนึ่งก็หลายร้อยบาท แต่พอใช้ควายไถนาก็นำมูลควายมาทำปุ๋ยได้แบบฟรีๆ เป็นปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่ธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี
นายสิทธินันท์ ยังบอกอีกว่า ควายก็เหมือนสัตว์เลี้ยงของชาวนา อยากจะอนุรักษ์การทำนาน อนุรักษ์ควาย ให้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ทุกวันนี้ภูมิใจมาก ได้ทำงานอยู่ใกล้กับพ่อแม่ ครอบครัวไม่ห่างเหินไปทำงานต่างถิ่น ได้กินข้าวด้วยกัน เห็นหน้ากันก็มีความสุข
• โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ช่วยอนุรักษ์รากเหง้าวิถีชาวนาไทยแบบดั้งเดิม
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เผยว่า การใช้ควายไถนาทำให้ประหยัดต้นทุน หากใช้รถไถก็ต้องเสียเงินค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ทำให้เกิดต้นทุนในการทำนาสูงขึ้น จนรู้สึกว่าทำนาแล้วได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า แต่ถ้าใช้ควายแทนรถไถคือการคืนสู่สามัญ เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตไทยแบบดั้งเดิม การตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ตามพระราชดำริ ทำให้วิถีชีวิตเหล่านี้ไม่สูญหายไปจากสังคมไทย ทำให้ไม่ลืมรากเหง้า และองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งความเรียบง่ายจะนำพาชีวิตไปสู่ความยั่งยืน
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ยังคงทำหน้าที่จุดประกายให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ที่อาจไม่เคยเห็นความสุขในระบบอุตสาหกรรมการเกษตร หรือกำลังมองหาความพอเพียงเป็นที่พึ่ง ได้เห็นว่า วิถีการทำนาด้วยควาย เป็นทางออกที่เป็นจริงได้ และเป็นทางรอด ทางเลือก และการกู้คืนศักดิ์ศรีของควายไทย ให้กลับมาเคียงข้างชาวนาไทย เพราะในวิถีแบบเดิม ควายไม่ได้เป็นเพียงสัตว์ที่ใช้แรงงาน แต่ยังเป็นสัตว์สังคมที่ผูกพันกันมานานนับแต่บรรพบุรุษและวิถีชีวิตของชาวนาไทย
Advertisement