Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
"ป่าอ่างเอ็ด" ป่าผืนเล็ก แต่เต็มไปด้วยคลังข้อมูลทางธรรมชาติแบบมหาศาล

"ป่าอ่างเอ็ด" ป่าผืนเล็ก แต่เต็มไปด้วยคลังข้อมูลทางธรรมชาติแบบมหาศาล

16 ก.ค. 67
14:23 น.
|
458
แชร์

ป่าผืนสุดท้ายในแดนพลอย โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จ.จันทบุรี พื้นที่เล็กๆ 80 ไร่ แต่เต็มไปด้วยคลังข้อมูลทางธรรมชาติแบบมหาศาล

เมื่อหลายสิบปีก่อนไม่เคยมีใครคิดว่า ที่ดินผืนนี้ที่เป็นป่ายางรกร้าง จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคน จากพื้นที่โดยรอบที่เป็นป่าสมบูรณ์ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมาทำเหมือง ซึ่งการทำเหมืองจะต้องมีการเปิดป่า ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ และพื้นที่โดยรอบถูกทำลาย ก่อนจะกลายเป็นที่รกร้างเปล่าประโยชน์

1721113582256

จนกระทั่งปี พ.ศ.2544 ครอบครัวลักคุณะประสิทธิ์ ได้มีหนังสือถึงมูลนิธิชัยพัฒนา ขอน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินในตำบลตกพรหม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีสภาพเป็นป่ายางรกร้างไม่มีการทำประโยชน์ในพื้นที่มานานกว่า 20 ปี จำนวน 14 แปลง รวมเนื้อที่ 160 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่า 80 ไร่ พื้นที่รอบนอก 80 ไร่ และเรื่องราวของพวกเขาได้เริ่มต้นจากป่าผืนนี้

คำรณ เลียดประถม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญงาน เผยว่า อำเภอตกพรหมเป็นแหล่งพลอยแดง ที่เป็นสายแร่มาจากอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตาก ที่นี่มักจะมีคนมาขโมยขุดพลอย แต่เมื่อมีการถวายที่ดิน 160 ไร่ ที่มีสภาพเป็นป่ารกร้างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทางชาวบ้าน ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้หารือกันว่าจะทำอะไรกับป่าผืนนี้ดี มีหลายแนวคิด ทั้งการทำสวนยาง การทำสวนผลไม้ จนกระทั่งมาสรุปที่ทำเป็นป่าตัวอย่าง เพื่อให้เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้ ศึกษาวิถีธรรมชาติ จนก่อให้เกิดความร่วมมือกันทุกภาคส่วน กลายเป็น "ป่าอ่างเอ็ด"

1721113678883

คำรณและทีมงานมูลนิธิชัยพัฒนาตั้งความหวังให้ป่าแห่งนี้เป็นคลังความรู้ ทว่าความฝันกับภารกิจกลับไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะแต่ละคนแทบไม่มีใครรู้จักผืนแผ่นดินแห่งนี้ และไม่มีใครรู้ว่าภายในป่าแห่งนี้มีอะไรเพียงพอจะสานต่อภารกิจหรือไม่

เมื่อเข้าป่าครั้งแรกทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นป่ารก เป็นป่ายางที่ถูกทิ้งร้าง ไม่รู้จะเริ่มต้นฟื้นฟูอย่างไร แต่เมื่อน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ที่ทรงบอกว่า ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก แม้ป่าจะเสื่อมโทรม โดนทำลายไปแล้ว แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาเจริญเติบโตเอง โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยว ไม่เข้าไปขัดขวางการทดแทนในระบบธรรมชาติ เดี๋ยวป่าก็จะกลับฟื้นขึ้นมาเอง ทำให้ทุกอย่างเริ่มต้นจากการไม่ต้องไปยุ่งอะไร ให้ธรรมชาติจัดการเอง

1721113887531

เมื่อป่าเริ่มได้รับการฟื้นฟู ทุกคนจึงพยายามงัดทุกองค์ความรู้ ทุกกลวิธีการทำงานมาอ้างอิง มาผสมผสานกันเพื่อให้ได้คำตอบตามที่ตั้งสมมติฐานไว้ ไม่นานความร่วมมือจากทั่วสารทิศของนักธรรมชาติวิทยาก็หลั่งไหลเข้ามาเพื่อหาคำตอบที่ตั้งเอาไว้ มีการเก็บข้อมูล ใช้ระบบสารสนเทศ วางจีพีเอส ฝังหมุดทุกไร่ จากนั้นนำจีพีเอสดาวเทียมมาทำแผนที่ภาพรวม เพื่อให้เข้าใจเรื่องชีวภาพของป่าแห่งนี้ โดยเก็บทุกเดือน ทุกฤดูนานกว่า 2 ปี จนได้ฐานข้อมูลที่เพียงพอ จนทำให้ทราบว่าป่า 80 ไร่แห่งนี้ มีความหลากหลายสูงมาก มีสัตว์หลากหลายชนิดอยู่ที่นี่ ซึ่งกลุ่มหลักที่เห็นได้ชัดคือ ผีเสื้อกลางวัน ผีเสื้อกลางคืน กลุ่มด้วง และมด บางชนิดเป็นสัตว์ที่หายากและพบชนิดเดียวในโลก

1721113915485

ในที่สุดความพยายามและร่วมมือกันนำผลสำเร็จมาให้มูลนิธิชัยพัฒนา วันหนึ่งทีมสำรวจพบมดชนิดหนึ่งเดินอยู่บนต้นฮ่อสะพายควาย จึงนำมดตัวนี้มาที่ห้องปฏิบัติการ แล้วนำไปเทียบกับตัวอย่างที่มีอยู่ในโลกทั้ง 12 ชนิด ปรากฏว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกจริงๆ เป็นชนิดที่ 13 หลังจากนั้นจึงได้ยื่นขอชื่อพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วพระองค์พระราชทานชื่อให้ว่า "มดต้นไม้สิรินธร"

1721113993038

ความสำเร็จครั้งนี้สร้างขวัญและกำลังใจให้ทุกฝ่าย จนวันหนึ่งมีการตั้งกับดักแสงไฟเป็นจอผ้าแล้วมีหลอดไฟ เพื่อดึงดูดผีเสื้อเข้ามา ซึ่งตลอดทั้งปีไม่เคยเจอผีเสื้อชนิดนี้เลย ปรากฏว่าเดือนนั้นเป็นครั้งเดียวและคืนเดียวที่ได้ผีเสื้อตัวอย่างนั้นมา พอได้เห็นครั้งแรกก็บอกได้เลยว่า เป็นผีเสื้อชนิดใหม่ของโลก แต่พอไปตรวจสอบข้อมูลให้ลึกขึ้นเรื่อยๆ ก็พบว่าไม่ใช่แค่เป็นชนิดใหม่ แต่เป็นผีเสื้อสกุลใหม่ของโลก จึงขอพระราชทานชื่อจนได้มาว่า "ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร"

1721113975048

นอกจากนี้ ป่าเล็กๆ ผืนนี้ยังพบ "ตุ๊กแกตะวันออก" เป็นตุ๊กแกป่าที่พบได้เฉพาะในภาคตะวันออกและข้ามชายแดนไปยังประเทศกัมพูชา เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่ไม่เจอที่อื่น การใช้งานวิจัยและวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำทาง ทำให้ทีมงานมูลนิธิชัยพัฒนามีข้อมูลเพียงพอที่จะทำให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน

1721114148223

โครงการพัฒนาป่าชุมชน บ้านอ่างเอ็ด มูลนิธิชัยพัฒนา ยังแบ่งผืนป่ารอบๆ อีก 20 ไร่ เพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน โดยเป็นพื้นที่สาธิตการปลูกทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด และอื่นๆ 10 ไร่ และดัดแปลงพื้นที่อีก 10 ไร่ เป็นเรือนเพาะชำของกรมป่าไม้ อาคารอเนกประสงค์ และบ้านพักเจ้าหน้าที่

1721114343237

นอกจากนี้ยังมีการจัดค่ายเยาวชน อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกการอยู่ร่วมกันระหว่างป่ากับชุมชน เด็กๆ จะได้ศึกษาจากการลงพื้นที่จริง ทั้งการเดินป่ากลางวันและกลางคืน มีกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้กับเยาวชนอย่างยั่งยืน

1721114211267

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เผยว่า ทุกสรรพสิ่งต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันหมด ไม่มีใครอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพังได้ ป่าอ่างเอ็ดเป็นต้นแบบที่ดี แต่ละโครงการเมือสำเร็จจะเกิดองค์ความรู้ เป็นสถานที่ให้คนได้ศึกษาป่า เริ่มจากท้องถิ่นไปชุมชน แล้วขยายไปเรื่อยๆ เป็นการศึกษาธรรมชาติโดยไม่ต้องลงทุน เพียงแต่เราต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เข้าใจว่าเหตุผล ทางแก้ ทางรักษาคืออะไร เข้าถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง ผลสุดท้ายก็จะเกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

1719985353871_1

Advertisement

แชร์
"ป่าอ่างเอ็ด" ป่าผืนเล็ก แต่เต็มไปด้วยคลังข้อมูลทางธรรมชาติแบบมหาศาล