สธ. เปิดข้อมูล ผู้ป่วย ฝีดาษลิง สายพันธุ์รุนแรง สายพันธุ์เคลด 1b หรือ Clade 1b รายแรกของไทย เจอผู้สัมผัสใกล้ชิดรวม 43 ราย
วันที่ 21 ส.ค. 67 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยสงสัย ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 1b หรือ Clade 1b รายแรกในประเทศไทยว่า
ขณะนี้ กรมควบคุมโรคได้รับรายงานว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยสงสัยโรค ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 1b แม้ว่ายังไม่มีการยืนยัน 100%
แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่ใช่สายพันธุ์เคลด 2b เป็นผู้ป่วยชาย ชาวยุโรป วัย 66 ปี เดินทางมาจากประเทศต้นทางแถบแอฟริกา ที่กรมควบคุมโรคมีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางอยู่แล้ว ซึ่งมีการต่อเครื่องบิน 1 ครั้งที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค. เวลา 18.00 น.
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ต่อมาวันที่ 15 ส.ค. 67 ผู้ป่วยรายดังกล่าวเริ่มมีอาการป่วยไข้ มีตุ่มบริเวณร่างกายเล็กน้อย ทางโรงพยาบาลซักประวัติแล้วสงสัย จึงตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรค ฝีดาษวานร ครั้งแรกตรวจหาสายพันธุ์เคลด 2b เป็นผลลบ จึงมีการตรวจหาสายพันธุ์เคลด 1b ซ้ำ ผลออกมาไม่ชัดเจน
ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ซ้ำอีกครั้งด้วยการนำยีนไปตรวจ RT-PCR คาดว่า วันที่ 23 ส.ค. จะทราบผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีภาวะหรือโรคแทรกซ้อนอะไร และอาการป่วยก็ไม่รุนแรง ถือว่าผู้ป่วยไปพบแพทย์เร็ว ทำให้มีช่วงเวลาที่สัมผัสกับผู้อื่นไม่มาก
“แม้ผลการตรวจผู้ป่วยยังไม่ 100% แต่ในการควบคุมป้องกันโรค การรับรู้ข้อมูลข่าว จึงต้องรีบมาแจ้งประชาชน เพราะถ้าเริ่มมีข้อมูลออกไปแล้ว คนไปหาข่าวกันเอง ก็จะไปกันใหญ่” นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ก็จะเริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 ส.ค.ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน โดยผู้โดยสารแถวที่ใกล้ชิด 2 แถวหน้าและหลัง รวมถึงผู้สัมผัสใกล้ชิด รวม 43 ราย ขณะนี้มีรายชื่อหมดแล้ว
ทางทีมสอบสวนโรคจึงประสานไปให้ผู้สัมผัสใกล้ชิด ในระยะ 21 วันนี้ ให้เฝ้าระวังตนเอง หากพบอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์ แต่กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าจะต้องกักตัวเหมือนกับช่วงการระบาดโควิด-19 เพราะการติดเชื้อ ฝีดาษวานรนั้น จะแพร่เชื้อได้ก็ต่อเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว
Advertisement