ทำความรู้จัก กฎหมายคูฮารา (Goo Hara Act) ข้อกฎหมายที่สั่งห้าม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเลี้ยงดู ได้รับมรดกใดจากลูกผู้เสียชีวิต
มรดกครอบครัว ถือเป็นสาระสำคัญหลังจากที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ต่อให้ข้อกฎหมายจะหย่อนยานเพียงใด คนที่เป็นพ่อแม่แต่ไม่ได้เลี้ยงดู อาจฉวยโอกาสนี้ฮุบสมบัติหรือมรดกไปเป็นของตัวเองได้
ซึ่งเรื่องมรดกจากคนบันเทิงหลังจากการเสียชีวิตไปแล้ว อาจถูกฉวยเอาไปได้ ดั่งเช่นเคสที่เกิดกับ คูฮารา นักร้องจากวง KARA จนเกิดเป็นเคสผลักดัน กฎหมายคูฮารา จนผ่านร่างการพิจารณาพร้อมใช้ในปี 2569
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 มีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของไอดอล คูฮารา (Goo Hara : 구하라) นักร้องจากวง KARA นางฟ้าในใจของแฟนคลับ ที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตในบ้านพักส่วนตัว โดยสาเหตุการตัดสินใจจบชีวิต คาดการว่ามาจากภาวะความเครียด โรคซึมเศร้า กระแสบูลลี่ และข่าวการถูกแอบถ่ายจากแฟนเก่า ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง
การตัดสินใจจบชีวิตของไอดอลเป็นเสมือนเรื่องซุกใต้พรม ของวงการบันเทิงเกาหลี เพราะเคสของฮาราไม่ใช่เคสแรก อีกทั้งไอดอลหลายคนยังเคยเปิดเผยว่าเข้ารับการบำบัดจากนักจิตเวชบางครั้ง ด้วยการอยู่หน้าสปอตไลท์ทำให้ต้องพบเจอความเห็นมุ่งร้ายอยู่บ่อยครั้ง
แต่การเสียชีวิตของฮาราเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึง เพราะการที่แม่ของเธอยื่นคำร้องต่อศาล โดยมีจุดประสงค์ต้องการเรียกร้องมรดกทรัพย์สินกว่าครึ่งเป็นของตัวเอง โดยอ้างว่าเป็นสายเลือดโดยตรง
คูฮาราเติบโตมากับน้าและพี่ชายของเธอ คูโฮอิน ผู้ที่ผลักดันกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิ์ของน้องสาวเต็มความสามารถ จากคำกล่าวอ้างเรียกร้องต่อสายของแม่ ที่ต้องการรับผลประโยชน์ทางมรดกได้อ้างว่า
"การเสียชีวิตของคูฮารา เป็นลูกสาวทางตรงโดยสายเลือด ถึงแม้จะไม่เคยเลี้ยงดู หรือส่งเสียเรื่องการเงินเกินกว่า 10 ปี หลังการหย่าร้าง แต่ด้วยความเป็นแม่ก็ควรได้รับมรดกในอัตรา 5:5"
คูโฮอินผู้เป็นพี่ไม่เห็นด้วยต่อคำร้องนั้น เพราะเป็นการเปิดช่องทางต่อพ่อแม่ผู้ละเลย ให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งที่ไม่ได้เลี้ยงดู จึงได้ขอร้องศาลให้พิจารณาการแบ่งมรดกอีกครั้ง จนสุดท้ายคำสั่งศาลได้มีการตัดสินให้แบ่งมรดกในอัตรา 6:4 โดยที่แม่ได้ไป 4 ส่วนจากมรดกทั้งหมด
เดิมทีแล้ว กฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ ได้กล่าวถึงเรื่องมรดกครอบครัวไว้ดังนี้ "หากผู้ที่เสียชีวิต ไม่ได้มีคู่สมรสถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีสายเลือดสืบสกุล ผู้เป็นบิดาและมารดาสามารถรับผลประโยชน์ได้ แม้ผู้นั้นไม่เคยได้เลี้ยงดูบุตรหลานด้วยตนเอง
ยกเว้นในกรณีที่การเสียชีวิตนั้นรุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น การฆาตกรรมเพื่อเอาทรัพย์สิน การปลอมแปลงพินัยกรรม ซึ่งข้อกำหนดนี้รวมไปถึงกรณีพ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว อีกทั้งข้อกำหนดกฎหมายยังระบุชัดว่า ต้องแบ่งมรดกพินัยกรรมโดยเท่าเทียม"
ระหว่างการพิจารณาคำร้องต่อศาลของคูโฮอิน และแม่ของคูฮารา ทางด้านพี่ชายได้พยายามผลักดัน "พระราชบัญญัติคูฮารา" หรือ "กฎหมายคูฮารา" มาโดยตลอด โดยมีความมุ่งหวังว่า เป็นหนึ่งในการปกป้องสิทธิและมรดกให้กับครอบครัวอื่น บุคคลอื่น ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน เด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือละเลยโดยที่ไม่ได้พบกับครอบครัวที่แท้จริง
กฎหมายคูฮารานี้ ถูกปัดตกในครั้งแรกที่ยื่นคำร้องครั้งแรก ก่อนที่จะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง หลังจากที่ประชาชนร่วมลงชื่อกว่าแสนราย โดยการขอความร่วมมือลงชื่อ เพื่อผลักดันกฎหมายนี้ใช้เวลาเพียง 17 วัน โดยมีใจความสำคัญสำหรับการผลักดันที่ระบุไว้ว่า
"บุคคลที่บกพร่องในการทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตร เช่น ทอดทิ้ง ละเลยบุตร หรือไม่มีความรับผิดชอบในการเป็นผู้ปกครองของบุตร หรือการก่ออาชญากรรม เช่น การไม่ดูแลบุตร การทารุณกรรมบุตร จะถูกตัดสิทธิจากการสืบมรดกของบุตร หากมีการพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นเป็นความจริง"
โดยเป็นการเป็นการเพิ่มการพิจารณาการแบ่งสินทรัพย์ให้กับบิดามารดา ผู้ที่ละเลยหน้าที่ในการดูแลบุตร ศาลมีสิทธิตัดสินให้ไม่มีการแบ่งสินทรัพย์ให้ในกรณีที่บุตรเสียชีวิต ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวรวมไปถึงพ่อแม่ พี่น้อง หรือคู่สมรส ที่จะได้รับการพิจารณาความชอบธรรม และรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีกับผู้เสียชีวิต
หากพบว่าคนที่มีสิทธิได้รับมรดกมีพฤติกรรมที่ละเลย ไม่สนับสนุน หรือเลี้ยงดู จะไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดก ทั้งนี้หากผู้ตายไม่มีพินัยกรรม ทายาทร่วมสามารถร้องขอให้สูญเสียสิทธิการรับมรดกต่อศาลครอบครัวได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ทราบว่าพ่อแม่สายตรงไม่ทำหน้าที่ ไม่ดูแลผู้ตาย
กฎหมายคูฮารา ได้ถูกเสนอเข้ารัฐสภาพเป็นครั้งแรกในปี 2563 ก่อนที่จะถูกปัดตกในครั้งการประชุมที่ 20 และ 21 หลังจากการยื่นเสนอร่างกฎหมาย 4 ปีให้หลังในครั้งที่ 22 กฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาพร้อมบังคับใช้ในที่สุด ถึงแม้จะมีการแก้ไขเนื้อหาและข้อกำหนดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา แต่ศาลได้ประกาศให้มีการบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2569 เป็นต้นไป
กฎหมายคูฮารา มีกำหนดให้เริ่มการบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2569 และอนุญาตให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังได้ เฉพาะในกรณีที่การรับมรดกเริ่มหลังวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติการสงวนผู้บุพการี และผู้สืบสันดานโดยตรงขัดต่อรัฐธรรมนูญ
หลังจากมีการประกาศว่า "กฎหมายคูฮารา" (Goo Hara Act) ผ่านร่างและมีผลบังคับใช้ในปี 2567 คูโฮอิน พี่ชายของคูฮารา แสดงความยินดีในอินสตาแกรมส่วนตัว ที่รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายคูฮารา โดยได้ระบุว่า "ผ่านไปได้ด้วยดี ไชโย!! แม้จะมีความกังวลเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น ในที่สุดก็ผ่านไปได้ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ผมหวังว่าทุกคนจะมีสุขภาพดี และมีความสุข ขอบคุณจากใจจริง"
เมื่อปี 2563 คูโฮอิน พี่ชายของ คูฮารา ได้เปิดเผยว่า ระหว่างที่มีการจัดพิธีเคารพศพของฮารา แม่ของพวกเขาได้ปรากฏตัวในงานพร้อมยืนกรานว่าจะทำหน้าที่พิธีกรภายในงาน รวมถึงมีการถ่ายเซลฟี่กับแขกคนดังที่มาร่วมงาน โดยไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจต่อการเสียชีวิตของลูกสาว
"คูฮาราต้องทนทุกข์ทรมานกับการถูกแม่ทิ้งตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โปรดช่วยยืนยันแน่ใจว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเธอ และครอบครัวของเราจะไม่เกิดขึ้นกับใครอีก" คูโฮอินกล่าวในงานแถลงข่าวนั้น
กฎหมายคูฮารา หรือ Goo Hara Act ถูกตั้งตามชื่อของฮารา โดยที่พี่ชายได้บอกว่า เป็นกฎหมายที่ทำขึ้นเพื่อปกป้องคนอื่นจากความอยุติธรรมที่ต้องเผชิญ ตามชื่อของฮาราที่แปลว่าการปกป้อง ทั้งนี้กฎหมายคูฮารามีผลบังคับใช้ย้อนหลังก็จริง แต่ไม่สามารถบังคับใช้กับครอบครัวของฮาราและโฮอินได้ เนื่องจากได้มีข้อสรุปในคดีดังกล่าวให้แม่ของเธอได้รับมรดกไปแล้ว
ที่มา : สำนักข่าวโซเกอิลโบ 세계일보 (news.naver.com) / Allkpop (allkpop.com)
Advertisement