เกือบหลับแต่กลับมาได้ ย้อนรอยห้างสรรพสินค้าชื่อดังในกรุงเทพมหานคร ที่เคยซบเซาแต่ปรับตัวได้ทันจนกลับมาปังกว่าเดิม
ห้างสรรพสินค้า อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน หลายคนเลือกใช้ช่วงเวลาในวันหยุด พักผ่อนด้วยการจับจ่าย รับประทานอาหาร พบปะครอบครัวเพื่อนฝูง หรือทำกิจกรรมต่างๆ จนกลายเป็นศูนย์รวมของผู้คน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจก็ย่อมมีวัฏจักรที่มีช่วงขาขึ้นและขาลง อยู่ที่การรับมือว่าจะเดินไปในกลยุทธ์ใด และนี่คือห้างสรรพสินค้าชื่อดังในกรุงเทพมหานคร ที่ครั้งหนึ่งก็ผ่านสภาวะที่เงียบเหงา แต่ก็ปรับตัวได้ทันจนกลับมาปังและยิ่งใหญ่ในใจของผู้บริโภค
เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือ เซ็นทรัลเวิลด์
แรกเริ่มเดิมที ปี 2507 นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาก่อสร้างห้างสรรพสินค้า "ไทยไดมารู" ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ ที่มีการติดตั้งบันไดเลื่อนและเครื่องปรับอากาศ เป็นที่แรกของประเทศไทย โดยมีกลุ่มเซ็นทรัล มาเช่าที่ดินบริเวณข้าง ๆ เปิดห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ราชประสงค์ ซึ่งต่อมา ห้างไทยไดมารู ได้ย้ายไปอยู่ฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่ตั้งของ Big C ราชดำริในปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 บริษัท วังเพชรบูรณ์ จำกัด โดย นายอุเทน เตชะไพบูลย์ ได้ขอเช่าที่ดินผืนนี้เพื่อก่อสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในชื่อ "เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์" เป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่มีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม ตั้งอยู่รวมกัน ในส่วนของห้างสรรพสินค้าก่อสร้างเสร็จก่อนในปี 2532 โดยมีกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเช่าพื้นที่ทำศูนย์การค้า ZEN ส่วนอีกฝั่งมีห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นชื่อ “อิเซตัน (Isetan)” มาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย (ปัจจุบันปิดไปตั้งแต่ 2563 ที่ผ่านมา)
จุดเปลี่ยนอยู่ที่ปี 2545 บริษัท วังเพชรบูรณ์ ประสบปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถก่อสร้างโครงการส่วนที่เหลือได้สำเร็จ ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้ามาประมูลและได้สิทธิการพัฒนาพื้นที่ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อจาก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็น "เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า" แล้วทำการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ ต่อเติมโครงการที่เหลือให้แล้วเสร็จขึ้นมา เช่น อาคารสำนักงาน The Offices at CentralWorld โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าอีกครั้งให้สั้นและจำง่าย นั่นคือ เซ็นทรัลเวิลด์ (CentralWorld) ในปี 2550
ปัจจุบัน เซ็นทรัลเวิลด์ กลายเป็นแลนด์มาร์กระดับโลกที่คนไทยและนักท่องเที่ยว ด้วยพื้นที่กว่า 830,000 ตร.ม. บริเวณสี่แยกราชประสงค์ใจกลางกรุงเทพมหานคร และเป็นที่ตั้งของ Apple Central World ที่เป็นแฟลกชิปสโตร์ ใหญ่ที่สุดในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นจุดที่จัดงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่สนุกสนานมอบความสุขให้กับคนไทยและชาวต่างชาติมาต่อเนื่องหลายปี
มาบุญครอง หรือ MBK Center
ศูนย์การค้ามาบุญครอง เซ็นเตอร์ เปิดบริการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ก่อตั้งโดย "ศิริชัย บูลกุล" ซึ่งมาจากชื่อ คุณพ่อมา และ คุณแม่บุญครอง ของคุณศิริชัย โดยครอบครัวนี้มีกิจการเก่าแก่คือ ธุรกิจโรงสีข้าว และจำหน่ายข้าวสารยี่ห้อ "มาบุญครอง" ที่เรารู้จักกันดี
ในยุคแรก มาบุญครอง นิยามตัวเองว่าเป็น ศูนย์การค้าแบรนด์เนม ได้รวบรวมร้านค้าที่ขายสินค้าแบรนด์เนมหลากหลายยี่ห้อมารวมกัน และยังมี "โตคิว" ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นมาผนึกกำลังด้วย ต่อมาในปี 2538 มาบุญครองได้สร้าง โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ในบริเวณเดียวกันกับห้างสรรพสินค้า เกิดการจัดสรรพื้นที่ห้างในรูปแบบใหม่ จากร้านขนาดใหญ่ที่ขายแบรนด์เนม กลายเป็นซอยพื้นที่ให้เล็กลงเพื่อให้ได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นแหล่งธุรกิจร้านขายโทรศัพท์มือถือ ที่คนในยุค Y2K เรียกกันว่า "ร้านตู้มือถือ" ซึ่งพื้นที่เล็กๆ เหล่านี้เคยติดอันดับห้างที่มีค่าเช่าและค่าเซ้งแพงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพราะผู้คนแห่แหนกันมาซื้อมือถือในยุคที่เริ่มบูม
แต่หลังจากนั้นกรุงเทพมหานครเริ่มเติบโต มีห้างยักษ์ใหญ่หรุหราผุดขึ้นกลางใจเมืองมากมาย ทำให้มาบุญครองต้องปรับตัวอีกครั้ง วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าจากมาบุญครอง เซ็นเตอร์ เป็น เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงอาคารเป็นโฉมใหม่ พร้อมหันไปโฟกัสตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดึงสารพัดร้านค้าทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค ของฝาก เครื่องสำอาง นาฬิกา เสื้อผ้า ฯลฯ มารวมกันไว้ เรียกได้ว่ามาที่นี่ ครบจบในที่เดียวได้ของติดมือกลับบ้านแบบสบายกระเป๋า กลายเป็นห้างขวัญใจชาวต่างชาติแบบปากต่อปาก
ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 บมจ.เอ็มบีเค ได้รวมตัวกับสยามพิวรรธน์ในนามวันสยาม และกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ ก่อตั้งสมาคมการค้าพลังสยามขึ้น เพื่อพัฒนาศูนย์การค้าในย่านสยามให้เป็นย่านค้าปลีกระดับโลก จนดูสวยงาม ทันสมัย ไม่ตกยุค เรียกว่าปรับตัวได้ดี จนแทบไม่มีช่วงที่เป็นยุคมืด
แฟชั่นไอส์แลนด์
ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ เปิดให้บริการในปี 2538 ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางของคนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก แต่เนื่องจากช่วงนั้นในย่านรามอินทรา มีนบุรียังไม่ได้เจริญมากเท่ากับสมัยนี้ ทำให้ห้างยังไม่ค่อยมีคนเข้ามาใช้บริการแบบหนาตามากนัก จนกระทั่งเกิดการขยายของเมือง ทำให้บริเวณรามอินทรา มีนบุรี คลองสามวา เลียบคลองสอง พระยาสุเรนทร์ ฯลฯ มีหมู่บ้านทั้งระดับมาตรฐานไปจนถึงหรูหราราคาหลายสิบล้านไปตั้งอยู่ในบริเวณนั้น จึงเป็นอานิสงส์ช่วยให้แฟชั่นไอส์แลนด์ที่เงียบเหงาในวันนั้น ค่อยๆ กลับมาคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ
ประกอบกับวิสัยทัศน์ และการปรับกลยุทธ์ของ บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด อันแหลมคม ทั้งการดึงห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง บิ๊กซี มาไว้ที่ศูนย์การค้า ปรับปรุงพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะห้องน้ำที่ถ้าใครเคยไปใช้บริการก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าใหญ่โต มีหลายจุดให้บริการ และยังสะอาดมาก จนได้รางวัลมาตรฐานห้องน้ำสาธารณะอาเซียนปี 2564-2565 ASEAN Public Toilet Standard 2021 – 2022 (APTS) รวมถึงการดึงร้านค้าที่ปกติตั้งอยู่ในห้างใจกลางเมือง ให้มาลงทุนเปิดร้านที่นี่ ทำให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้นจนหนาแน่นแทบทุกวัน
ปัจจุบัน แฟชั่นไอส์แลนด์ เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในย่านรามอินทรา ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 100 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอย 350,000 ตรม. รองรับรถยนต์ได้มากถึง 50,000 คัน/วัน และมีร้านค้าชั้นนำกว่า 600 ร้านค้า มีปริมาณผู้คนเข้าศูนย์การค้ากว่า 120,000 คน/วัน และยังมีห้างสรรพสินค้าที่มีดีเวลลอปเปอร์เจ้าของเดียวกันอย่าง เดอะพรอมานาด มาตั้งอยู่ที่ศูนย์ และยังมีโฮมโปรมาช่วยเติมเต็มให้ครบวงจร จนกลายเป็นห้างยืนหนึ่งในย่านกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกไปแล้ว
มาถึงตรงนี้แล้วก็จะเห็นว่า ไม่ว่าจะผ่านอุปสรรคอะไร ปัญหาจะหนักหนาแค่ไหน หากห้างสรรพสินค้าพยายามปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา ก็จะทำให้อยู่รอดได้ ไม่ต้องปิดตัวลงหรือล่มสลายไปตามกาลเวลา เป็นบทเรียนให้ผู้ประกอบการหลายคนได้นำไปปรับใช้กับตัวเอง เพราะถ้ายังไม่ขยับตัวก็นับวันรอที่จะรูดม่านปิดฉากธุรกิจได้เลย
Advertisement