ภูมิธรรม ยัน รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมก้อนแรก ครอบครัวละ 5,000 บาท ลดขั้นตอนจาก 30 วันเหลือ 5 วัน เร่งเคลียร์โคลนให้หมด 29 ก.ย. นี้
วันที่ 26 ก.ย. 67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงผลการประชุม คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัย วาตภัย และ ดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 2 ว่า
เวลานี้ทุกหน่วยราชการทั้งหมดมีความพร้อม ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทุกส่วนในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่อุทกภัยดินโคลน ดินถล่ม น้ำท่วมปัจจุบันทันด่วนครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ จึงทำให้มีการปรับเปลี่ยนของพายุ ของร่องอากาศ เพราะฉะนั้นก็ต้องรับมือ สิ่งสำคัญน้ำมาครั้งนี้ ไม่เคยเกิดมาก่อนก็ทิ้งโคลนไว้ ซึ่งหนักมากที่เชียงราย
ตอนนี้ปัญหาหลังน้ำท่วมคือ ดินโคลนที่อยู่ตามถนน ซอกซอย และในบ้านเรือนของประชาชน ก็กำลังวางแผนบูรณาการ โดยขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อที่ผู้ว่าฯเชียงราย กำลังจะเกษียณอายุราชการ ทางกระทรวงมหาดไทยจึงส่ง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ และ นายชัยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ไปเซ็นเตอร์หน้างาน ประสานงานกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องอาหารสด และปัญหาถุงยังชีพ มีมากพอ
แต่ตอนนี้ต้องการสิ่งที่จะฟื้นฟูจัดการเรื่องโคลน ซึ่งต้องใช้รถดูดโคลน รถน้ำ แลเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกำลังคน เวลานี้ได้มีการประสานงานกับหน่วยต่างๆแล้ว ให้เคลียร์ถนนใหญ่ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยเข้าซอยต่างๆ เพื่อไปช่วยชาวบ้าน ไม่เช่นนั้นจะมีความยากลำบากในการใช้เครื่องมือเล็กในการเข้าพื้นที่ โดยมีการมอบหมายแต่กระทรวงรับผิดชอบแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน
สำหรับการเข้าฟื้นฟูบ้านเรือน บ้านหลังหนึ่งมีโคลน 1-2 เมตร ใช้กำลังพลประมาณ 30 คน ในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้มีอาสาสมัครจาก ปภ. อส. ทหาร และนักโทษชั้นดีจากกรมราชทัณฑ์มาช่วย นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิเอกชน เข้ามาเสริม แต่สิ่งที่อยากได้ในขณะนี้คือเครื่องมืออย่างเช่น จอบ เสียม เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รถแบ็คโฮ รถคูโบต้า เพราะโคลนเหล่านี้หากอยู่ตามท่อ และในบ้าน ทิ้งไว้นานจะเป็นหินปูนได้
นอกจากนี้ อยากให้ทุกฝ่ายจดบันทึกเป็นบทเรียนไว้ เพราะเรายังต้องเผชิญกับภาวะแบบนี้อีก จึงต้องเตรียมหาอุปกรณ์ต่างๆ รองรับ ซึ่งหลังจากนี้ก็คงจะมีการพูดต่อไป ส่วนวันพรุ่งนี้ น.ส.แพทิงธาร ชินวัตร นายกฯ และ รองนายกฯ ที่เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่เชียงราย และค้างคืน เพื่อรับทราบสถานการณ์ และแก้ปัญหาในพื้นที่ ส่วนวันรุ่งขึ้นนายกจะเดินทางต่อไปที่ จ.เชียงใหม่ ขณะที่รองนายกฯคนอื่น จะกระจายลงพื้นที่ โดยตนและนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจษฐกิจและสังคม จะเดินทางไปที่ จ.ลำปาง เพื่อดูเขื่อน พี่ตอนนี้ระดับน้ำอยู่ในภาวะวิกฤต
ส่วนระบบเตือนภัย ตอนนี้ทำได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม สามารถเตือนภัยผ่าน SMS ทางโทรศัพท์ถึงประชาชนได้โดยตรง นอกจากนี้ ที่ประชุม ศปส. แต่งตั้ง นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นที่ปรึกษา ศปส. เนื่องจากต้องใช้ความรู้ทางเทคนิค และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นโฆษก ศปส. เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร
สำหรับการจ่ายเงินเยียวยา พรุ่งนี้หลังนายกฯ ลงพื้นที่ จะสั่งการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเงิน 3000 ล้านบาท ที่ ครม. อนุมัติ ได้โอนไปที่ ปภ. แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบการใช้เงิน ซึ่งจะลดขั่นตอนจาก 30 วัน ให้เหลือ 5 วัน โดยเงินก้อนแรกจะจ่ายให้ครอบครัวละ 5000 บาท ซึ่งผู้ว่าฯ สามารถจ้ายได้เลย เพราะมีงบจังหวัดละ 200 ล้านบาทอยู่แล้ว เบื้องต้นพยายามจะจ่ายให้ทั่วถึงก่อน จากนั้นจะพิจารณาเพิ่มเติม
นายภูมิธรรม ยังชี้แจงถึงการตั้ง นายอรรษิษฐ์ ไปดูแลพื้นที่เชียงราย ว่า เป็นเพราะผู้ว่าฯเชียงรายป่วย และใกล้จะเกษียณแล้ว ก็พยายามไม่ให้ขาดช่วง แม้เจ้าตัวจะปฏิบัติงานได้แต่ก็ไม่เต็มที่ จึงแก้จุดอ่อนด้วยการให้โดยให้นายอนุทินช่วยแก้ปัญหาแล้ว เพราะฉะนั้นเซ็นเตอร์ตอนนี้อยู่ที่อธิบดี ปภ. ส่วนภาคเอกชนที่มาช่วย ขอให้มีการประสานงานให้ชัดเจน เพราะการระดมรถบรรทุกมาช่วย ซึ่งมีบางส่วนที่ผิดกฎหมาย เช่น บรรทุกน้ำหนักเกิน เกรงจะมีอันตรายถึงชีวิต จึงขอให้เป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมาย
ส่วนกรณีอาสาสมัครที่นำรถมาช่วยน้ำท่วม เมื่อเดินทางกลับ ถูกกรมทางหลวง และตำรวจจับ ดำเนินคดีนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันอยากให้มีการประสานงานก่อน ในการนำอุปกรณ์ไปช่วย เพื่อไม่ให้้กิดความซ้ำซ้อน แทนที่จะช่วยกลายเป็นเอาอุปกรณ์ไปกองรวมกัน กลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน อีกทั้งการนำอุปกรณ์มาบางครั้งก็บรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้ตำรวจทางหลวงห่วงใย เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายและกระทบต่อผู้อื่นที่ใช้เส้นทาง จึงขอดูข้อกฎหมายให้ดี และจะขอให้ช่วยผ่อนปรนอำนวยความสะดวก เพื่อแก้ปัญหาช่วงวิกฤตนี้ ในการหาทางออกร่วมร่วมกัน
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงใหม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า พรุ่งนี้จะมีการเสนอนายกฯ แก้ปัญหา ซึ่ง กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ยินดีคืนพื้นที่ให้ เพื่อให้ระบายน้ำคล่องตัวมากขึ้น ตรงไหนมีสะพาน มีตอหม้อขวางอยู่ ก็จะยกสะพานขึ้น เมื่อน้ำไหลคล่องตัวขึ้น การเอ่อล้นท่วมในเมืองก็จะลดลง โดยจะทำงานแข่งกับเวลาเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต ให้ครอบคลุมทุกพื้นที โดยในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงราย กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 29 กันยายน 2567 ส่วนการดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สาย แบ่งการดำเนินการเป็น 5 โซน กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือประมาณวันที่ 20 ตุลาคม 2567
ขณะที่ภาคอีสาน สถานการณ์ยังไม่วิกฤต แต่มีหน่วยงาน ปภ. และกองทัพภาคที่ 2 ดูแลอยู่แล้ว
Advertisement