วุ่นกันทั้งบ้าน ผู้สูงอายุป่วยติดเตียง เบิกเงินหมื่นไม่ได้ ญาติวิ่งปรึกษา ทนายขอค่าดำเนินการ 8 พันบาท สุดท้ายเรื่องทั้งหมดยุติด้วยดี
จากกรณีที่นางพรชนก พรหมโคกกลาง อายุ 44 ปี ชาวร้อยเอ็ด บุตรของนายประมูล วินทะชัย อายุ 75 ปี ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และป่วยติดเตียงจะไปกดเงิน 10,000 บาทมาใช้จ่ายในครอบครัว แต่กดเงินไม่ได้ เนื่องจากเอทีเอ็มของพ่อหมดอายุมาแล้ว 2 เดือน จึงเดินทางไปยังธนาคารออมสิน สาขาสี่แยกโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ซึ่งพ่อเปิดบัญชีไว้ แต่ธนาคารบอกว่าไม่สามารถจะทำบัตร ATM ใหม่ให้ได้ เพราะเจ้าตัวต้องมาเซ็นด้วยตัวเองตนจึงบอกว่าพ่อนอนป่วยติดเตียง ไม่สามารถเซ็น หรือพูดเป็นสำเนียงได้เลย
ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่า สิ่งที่จะทำได้ก็คือทายาทต้องไปยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งออกมาจึงจะดำเนินการให้ได้
จากนั้นตนไปสอบเจ้าหน้าที่ที่ศาลทราบว่าไม่สามารถยื่นเรื่องขอคำสั่งศาลด้วยตัวเองได้จะต้องให้ทนายความเป็นคนยื่นเรื่องและดำเนินการ
รวมทั้งต้องนำทายาททุกคนมาร่วมลงชื่อด้วย ตนจึงได้บอกพี่น้องอีก 2 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 1 คนทำงานอยู่ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ต้องลางานรีบซื้อตั๋วรถทัวร์เดินทางกลับร้อยเอ็ดใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมง แต่พอไปสอบถามทนายความ ทนายคนแรกบอกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 6,000 บาท จึงยังไม่ตัดสินใจ ไปถามทนายคนที่ 2 จะมีค่าใช้จ่าย 8,000 บาท ตอนแรกคิดว่าจะตัดสินใจจ้างทนาย เพราะลำบากมากแล้ว แม้จะจ่ายไป 8,000 บาท ยังเหลือ 2,000 บาท แต่คิดดูอีกทีเราต้องควักเงินสดจ่ายทนายจำนวน 8,000 บาท และไม่รู้ว่าจะเบิกเงินหมื่นได้เมื่อไหร่ จึงไม่ตกลง
ช่วงนั้นมีเพื่อนแนะนำว่าให้ไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ตนก็ได้เดินทางไปที่ศูนย์ดำรงธรรมทางศูนย์ดำรงธรรมก็แจ้งให้ไปยื่นเรื่องกับยุติธรรมจังหวัด ตนก็ไปยุติธรรมจังหวัด สุดท้ายก็ต้องไปจบที่ศาล เรื่องที่เกิดขึ้นแค่พ่อเซ็นชื่อไม่ได้ทำเอาลำบากทั้งครอบครัวมากขนาดนี้ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกลับไปจ่ายค่าทนายไปถึง 8,000 บาท
ท้ายที่สุดมีคนแนะนำลองไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ของคณะกรรมการอัยการภาคประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด โดยความร่วมมือของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดร้อยเอ็ด ก็ได้พบกับนายชานนท์ ลิขิตบัณฑูร ประธานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา สำนักงานอัยการภาค 4 และสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนจะประสานไปยัง พ.ต.ท.บุณถิ่น วันภักดี อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.ร้อยเอ็ดมาร่วมรับฟัง เพื่อหาทางช่วยเหลือ จากนั้นได้สอบถามไปยังทางธนาคารว่าจะมีทางออกแก่ประชาชนที่สะดวกรวดเร็ว
ต่อมานางปาริชาติ บุญมาศ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสี่แยกโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ก็ได้นำเจ้าหน้าที่ธนาคารลงพื้นที่ร่วมกับคณะอัยการคุ้มครองสิทธิ์ไปยังบ้านของนายประมูล วินทะชัย พบว่า นอนป่วยติดเตียง ขยับร่างกายแขนขาลำบาก ลูกต้องคอยดูแลป้อนน้ำอาหารให้
ผู้จัดการธนาคารกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้พบว่าลูกค้ารายดังกล่าวมีบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งปกติก็กดเงินได้เลย ทีนี้บัตรเอทีเอ็มดันหมดอายุจึงกดเงินไม่ได้ ตามระเบียบถ้าจะทำบัตรใหม่ต้องให้เจ้าตัวไปเซ็นที่ธนาคาร แต่เจ้าตัวเป็นผู้ป่วยติดเตียง และไม่สามารถเซ็นได้ ธนาคารจึงทำบัตรใหม่ให้ไม่ได้ เพราะมันเป็นระเบียบของธนาคารจะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล โดยทายาทต้องร้องไปยังศาลให้มีคำสั่งถึงธนาคารจึงจะสามารถดำเนินการทางธุรกรรมให้ได้ ปัจจุบันทายาทซึ่งเป็นบุตรไปยื่นเรื่องขอเป็นผู้ดูแลผู้บริบาลให้กับคุณพ่อแล้ว ฉะนั้นเงินส่วนนี้ซึ่งเป็นเงินพึงมีพึงได้จากเงินผู้สูงอายุจากผู้พิการก็จะเข้าบัญชีผู้ดูแล
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาแล้ว ตอนนี้ผู้ป่วยไม่สามารถเขียนลายมือชื่อได้ จำเป็นต้องพิมพ์ลายนิ้วมือแทน เพื่อเสนอเรื่องอนุมัติโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ดูแลต่อไป
ทำเอาครอบครัวและลูกๆ ที่อึดอัดมาหลายวันโล่งอก และขอบคุณทางอัยการคุ้มครองสิทธิ์และคณะ รวมทั้งผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสี่แยกโรงพยาบาลร้อยเอ็ดที่ให้การช่วยเหลือจนจบด้วยดี
ผู้จัดการธนาคารออมสิน กล่าวทิ้งท้ายว่า หากพี่น้องประชาชนท่านใดประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าวสามารถแจ้งไปยังธนาคารออมสินทุกสาขาใกล้บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารจะออกไปให้บริการถึงที่ เพื่อลดภาระและแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
Advertisement