ราชกิจจานุเบกษา แพร่ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ชนิดประเภทและขนาดของเครื่องดับเพลิงที่ต้องมีไว้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร 2567 มีผล 1 มกราคม 2568
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนพิเศษ 282 ง หน้า 6-7 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 เผยแพร่ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ชนิด ประเภท และขนาดของเครื่องดับเพลิงที่ต้องมีไว้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร พ.ศ. 2567 ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ชนิด ประเภท และขนาดของเครื่องดับเพลิงที่ต้องมีไว้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2542 ไว้แล้วนั้น
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้มีความปลอดภัยและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 9 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 40 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อธิบดีกรมการขนส่งทางบุก จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรือง ชนิด ประเภท และขนาดของเครื่องดับเพลิงที่ต้องมีไว้ประจำรถที่ใช้ใช้ในการขนผู้โดยสาร พ.ศ. 2542
ข้อ 2 รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน 1 มาตรฐาน 2 มาตรฐาน 6 ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย 2 เครื่อง ติดตั้งไว้ที่หน้ารถ 1 เครื่อง และด้านท้ายรถ 1 เครื่อง
รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน 4 (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ 2 เครื่อง โดยแต่ละชั้นให้ติดตั้งไว้ที่หน้ารถ 1 เครื่อง และด้านท้ายรถ 1 เครื่อง
เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องติดตั้งไว้ภายในรถอย่างมั่นคงแข็งแรงในที่ที่สามารถนำมาใช้งานได้โดยสะดวกรวดเร็ว ไม่มีสิ่งกีดขวางและพร้อมใช้งานได้ทุกขณะ
ข้อ 3 เครื่องดับเพลิงที่ต้องมีไว้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารต้องมีลักษณะ ดังนี้
(1) เป็นแบบยกหิ้ว ชนิดผงเคมีแห้ง โดยมีคุณภาพใช้งานได้ดี สารเคมีที่ใช้ในการดับเพลิงต้องเป็นชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซพิษหรือมีปฏิกิริยาเมื่อได้รับความร้อนจากไฟ ในกรณีเป็นชนิดอื่ดอื่มที่มิใช่ชนิดผงเคมีแห้ง ต้องมีประสิทธิภาพในการดับเพลิงที่ทัดเทียมกัน
(2) เป็นเครื่องที่พร้อมใช้งาน สลักต้องล็อกอยู่ตลอดและซีลต้องไม่ฉีกขาด ความดันหรือน้ำหนักต้องเป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด
(3) มีบันทึกการตรวจสอบเครื่องดับเพลิงไว้ประจำเครื่องดับเพลิง
บันทึกการตรวจสอบเครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อความที่ระบุวัน เดือน ปีของอายุการใช้งาน หรือข้อความที่ระบุเดือน ปี ของการตรวจสอบครั้งต่อไปหรือของช่วงเวลาที่อนุญาตให้ใช้งานได้ และข้อมูลรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก
(4) ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว ตามกฎหมาย
ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(5) เครื่องดับเพลิงต้องพร้อมใช้งานได้ทุกขณะ โดยต้องผ่านการตรวจสอบโดยผู้ประกอบการขนส่งเจ้าของรถ บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager: TSM) หรือผู้ผลิต ผู้จำหน่ายเครื่องดับเพลิง อย่างน้อยทุก 12 เดือน หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์การตรวจสอบเครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนดหรือตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 2
ข้อ 4 รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงไว้ประจำรถตามขนาด ดังต่อไปนี้
(1) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน 1 (ก) (ข) มาตรฐาน 2 (ก) (ข) มาตรฐาน 4 (ก) (ข) (ค) (ง) มาตรฐาน 6 (ก) (ข) ให้ใช้เครื่องดับเพลิงขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม
(2) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน 2 (ค) (ง) ให้ใช้เครื่องดับเพลิงขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 2 กิโลกรัม
(3) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน 2 (จ) ให้ใช้เครื่องดับเพลิงขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 1 กิโลกรัม
ข้อ 5 กรณีเครื่องดับเพลิงมีชนิด ประเภท ขนาด หรือเอกสารบันทึกการตรวจสอบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ กรมการขนส่งทางบกจะไม่ให้ผ่านการตรวจสภาพรถ
ข้อ 6 รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 7 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567
ลงนามโดย จิรุตม์ วิศาลจิตร
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
Advertisement