Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รู้จัก "พระราชพิธีสมมงคล" ในหลวง พระชนมายุ 26,469 วัน เท่ารัชกาลที่ 1

รู้จัก "พระราชพิธีสมมงคล" ในหลวง พระชนมายุ 26,469 วัน เท่ารัชกาลที่ 1

7 ม.ค. 68
13:54 น.
|
1.6K
แชร์

รู้จักพระราชพิธีสมมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมายุ 26,469 วัน เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 14 มกราคม 2568 มีกิจกรรมอะไรบ้าง?

ความหมายของ "สมมงคล" (สะ-มะ-มง-คน) คือ การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คำนึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในวาระต่าง ๆ เช่น วันดำรงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกัน หรือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนมาเสมอเท่ากันเป็นครั้งแรก มักเรียกว่า "สมมงคล" หมายถึง "เสมอกัน"

ชื่อการจัดงานภาษาอังกฤษ : The Auspicious Occasion of His Majesty King Maha Vajiralongkorn Phra Vajiraklaochaoyuhua Attaining the Same Age as His Majesty King Buddha Yodfa Chulalok the Great (Rama I) 2025

วันอังคาร ที่ 14 มกราคม 2568 เป็นวันมหามงคลพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ 26,469 วัน เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี

การบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีในวาระต่าง ๆ เช่น นอกจาก "สมมงคล" หมายถึง เสมอกัน แล้วยังมี "สมภาคา" ถ้าเวียนมาเป็นครั้งที่สองก็เรียกว่า "ทวิภาคา"บ้าง หรือ "ทวีธาภิเษก" บ้าง จะปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีลักษณะนี้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

พระราชกุศลที่บําเพ็ญถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นอกจากโอกาสวันดํารงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกับวันสําคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพระราชประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติในอีกหลายวาระ และวาระหนึ่งที่สําคัญ คือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนไปเสมอเท่ากัน และวันที่พระชนมพรรษามากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ล่วงไปแล้วด้วย ถือเป็นภาพลักษณ์แสดงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรําลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณความดีไว้แก่บ้านเมืองให้ราษฎรยึดถือเป็นแบบแผน

ตามโบราณขัตติยราชประเพณี พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระมหากษัตริย์ในวาระสําคัญ ๆ เสมอมา ซึ่งแสดงถึงพระราชจริยาวัตรและวัฒนธรรมอันดีงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีเทิดทูนพระราชกรณียกิจของพระบรมราช บูรพการีที่ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนําความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาราษฎร์และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง พระบรมราชวงศ์จึงยั่งยืนมั่นคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 4 วาระ คือ

1. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2508

2. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2528

3. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534

4. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ซึ่งนับพระชนมวารได้ 26,469 วัน โดยครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำรงรัฐสีมาอาณาจักร เพื่อทรงทำนุบำรุงความสุขให้แก่ประเทศและประชาชนชาวไทยสืบไป

การจัดพิธีการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วันอังคาร ที่ 14 มกราคม 2568

- เวลา 07.30น. จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล สถานที่ : ส่วนกลาง ณ ท้องสนามหลวง ส่วนภูมิภาค ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม

- เวลา 09.00 น. จัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติฯ สถานที่ ส่วนกลาง ณ เต็นท์พิธีการ ท้องสนามหลวง ส่วนภูมิภาค ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม

การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในนามรัฐบาล จำนวน 7 กิจกรรม ได้แก่

1. การจัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม 2568 ณ สวนสราญรมย์ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร โดยวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและคณะสงฆ์หนเหนือ ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกรุงเทพมหานคร จัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ซึ่งเป็นประเพณีมงคลของชาวล้านนา ประกอบด้วยกิจกรรม ได้แก่ พิธีฮอมบุญถวายเจ้าเหนือหัว พิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ การสาธิตภูมิปัญญาในการจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานพิธี การจัดสาธิตกาดมั่วหรือตลาดพื้นบ้านล้านนา

2. การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากรจะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ภายในเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ได้แก่ พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ซึ่งบริเวณพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ผู้เป็นต้นพระบรมราชจักรีวงศ์

3. การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร กรมศิลปากรจะจัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ในวันที่ 14 มกราคม 2568ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

4. การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

5. การจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล ณ ศาสนสถาน อันเป็นพระบรมราชานุสรณ์ หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ณ ศาสนสถานอันเป็นพระบรมราชานุสรณ์หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศ วัดราชบูรณะ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดคูหาสวรรค์ วัดราชสิทธาราม วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดราชาธิวาส วัดโมลีโลกยาราม วัดยานนาวา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดชนะสงคราม และวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

6. การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาให้วัดทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล สำหรับวัดไทยในต่างประเทศห้พิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

7. การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะจัดกิจกรรรมปลูกต้นไม้ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไม้มงคลหายาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ได้แก่ ตะเคียนทอง พิกุล และอินจัน

Advertisement

แชร์
รู้จัก "พระราชพิธีสมมงคล" ในหลวง พระชนมายุ 26,469 วัน เท่ารัชกาลที่ 1