ลมพัด PM2.5 เข้ากรุงเทพฯ มาจากที่ไหน ดร.เอ้ สุชัชวีร์ เผยพ่อป่วยเพราะ PM2.5 ลั่นคนไทยตายผ่อนส่งทุกวันเพราะฝุ่นพิษ
ปัจจุบัน ฝุ่นพิษ PM2.5 กลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาว เพราะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น การระบายลมต่ำ ทำให้ฝุ่นสะสมสูงขึ้น ซึ่งเพจ "ฝ่าฝุ่น" ได้ระบุถึงเส้นทางของลมที่พัดฝุ่น PM2.5 เข้า กทม. โดยระบุว่า
"ลมพัดฝุ่นเข้ากรุงเทพฯ นั้น มาจากที่ไหนบ้าง? ภาพซ้อนจุดความร้อนจาก NASA FIRMS ระหว่าง 5-9 มค 2568 กับความถี่ของเส้นทางลมโดย NOAA HYSPLIT เมื่อนำมาประกอบกันจะพอบอกได้ว่าลมพัดฝุ่นจากการเผาในที่โล่งจากพื้นที่ไหนบ้างเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ส่วนใหญ่มาจากการเผาในที่โล่งในอีสานและภาคกลางของเราเอง ส่วนรองข้ามแดนมาจากกัมพูชา เป็นอีกหนึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเหตุใดเราชาวภาคกลางและชาวกรุงเทพฯ ควรสนใจไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพราะฝุ่น PM2.5 ทำให้เราและครอบครัวเรามีชีวิตสั้นลงโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปีแล้ว และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยอีกหลายๆ โรคที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิต"
ล่าสุด ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยผลกระทบจากภาวะฝุ่น PM2.5 ทำให้คุณพ่อป่วยหลอดลมอักเสบ โดยระบุว่า
"ผมขอ "ขอบพระคุณ" ทุกท่านที่แสดงความห่วงใยคุณพ่อครับ คุณหมอแจ้งว่า "ฝุ่น PM2.5" ทำให้หลอดลมคุณพ่ออักเสบ หายใจไม่สะดวก ไอหนักมาก นอนไม่หลับ และยิ่งเมื่อหายใจออกลำบาก "คาร์บอนไดออกไซด์" ที่สะสมในปอด ทำให้คุณพ่อมีอาการซึม ไม่ทานข้าว ไปกันใหญ่ ที่บ้าน ลูกก็แพ้อากาศ ชีวิตคนกทม. และคนไทยต้องเผชิญภัย "ฝุ่นพิษ" ที่น่ากลัวที่สุด "ตายผ่อนส่ง" ทุกวันๆ ขณะที่กำลังนั่งรถกับคุณแม่ไปรพ. ยังคงเห็น "รถเมล์-รถบรรทุก ควันดำ" อยู่เกลื่อนถนน!!! เศร้า"
ทั้งนี้ ค่าฝุ่น PM2.5 มีการแบ่งระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้
• 0-15 มคก./ลบ.ม. อากาศดีมาก ทำกิจกรรมได้ตามปกติ
• 15.1 - 25 มคก./ลบ.ม. อากาศดี ประชาชนทั่วไป : ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง : เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง
• 25.1 - 37.5 มคก./ลบ.ม. อากาศปานกลาง ประชาชนทั่วไป : เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง ประชาชนกลุ่มเสี่ยง : ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก หากมีอาการผิดปกติ ให้ไปควรพบแพทย์
• 37.6 - 75 มคก./ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก เมื่อมีอาการผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์
• 75.1 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป มีผลกระทบต่อสุขภาพ ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก หากมีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
สามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทาง
- แอปพลิเคชัน AirBKK
- FB: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
- FB: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม
- FB: กรุงเทพมหานคร
- แอปพลิเคชัน AirBKK
- LINE ALERT
ขณะเดียวกัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนในเรื่องค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และผู้สูงอายุ จึงขอความร่วมมือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัวตรวจเช็กค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน ให้เด็กและผู้สูงอายุสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น
เนื่องจากเด็กมีระบบภูมิคุ้มกันและปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ และมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสหายใจเอาฝุ่นเข้าไปได้ง่าย หากเด็กสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูง อาจเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งส่งผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก ขอให้ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ลานกิจกรรม สนามกีฬา สวนสาธารณะ ควรจัดกิจกรรมในห้องหรือในอาคาร และทำให้เป็นห้องปลอดฝุ่น หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้เด็กสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง โดยเลือกหน้ากากที่มีขนาดของหน้ากากเหมาะสม และสวมใส่ให้กระชับกับใบหน้าของเด็ก
กรมอนามัย ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชั่น “Air4Thai” หรือ “Life dee” หากค่า PM2.5 อยู่ในระดับเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป ปิ้งย่าง เผาขยะ เผาเศษใบไม้ เป็นต้น ลดกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ถ้าจำเป็นต้องไปให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวีด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ ประชาชนสามารถประเมินอาการตนเองได้เบื้องต้นจาก 4HealthPM2.5 ได้ที่เว็บไซต์ หรือ LINE Official 4Health สำหรับบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ควรจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นและอยู่ในห้องปลอดฝุ่น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้านได้ที่ เว็ปไซต์ห้องปลอดฝุ่น หรือสามารถสอบถามปรึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5 ได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478
Advertisement