วันที่ 18 ธ.ค. 67 ที่อาคารจัตุรัสจามจุรี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประชุมหารือการขับเคลื่อนข้อเสนอการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
โดยมีเป้าหมายหลักในการหาแนวทางร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นลดการเผาไหม้ในพื้นที่เป้าหมายสำคัญ 30 พื้นที่ทั่วประเทศ เช่น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่นาข้าว พื้นที่อ้อย และพื้นที่ไร่ข้าวโพด
นอกจากนี้แล้วที่ประชุมยังได้เน้นย้ำถึงมาตรการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชน ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยลดมลพิษ แต่ยังส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วย รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญของการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริง เนื้อหาหลักในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวครอบคลุมการลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาด และสนับสนุนการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน
“ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับ สสส. และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทุกมติและเกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ โดยการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว” นายจักรพล กล่าว
ด้านดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในระยะยาว จึงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ลดผลกระทบต่อสุขภาพ และส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพอากาศและสุขภาพที่ดี
“ที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การเสนอนโยบายและสนับสนุนการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การแก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างเป็นระบบ 2) สร้างสรรค์งานวิชาการ ด้วยการพัฒนางานวิจัยและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สนับสนุนการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง 3) เสริมหนุนประชาสังคม ผ่านส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เชิงพื้นที่ และ 4) สื่อสารสังคมและรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในสังคมผ่านการเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้อง” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบัน BOI มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ผ่านสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับผู้ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อการจัดการไฟป่า หรือ การสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพื้นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น โดยการประชุมในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้เกิดผลจริง ซึ่งไม่เพียงช่วยลดมลพิษ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย
ขณะที่นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนในพื้นที่ หรือเรียกว่าด่านหน้านั้น เฝ้าระวังและจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของเครือข่ายในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งกลุ่มไลน์เพื่อสื่อสารข้อมูลและแจ้งเตือน ช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสนอให้มีการลงมือแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยไม่รอความสมบูรณ์แบบของนโยบายหรือมาตรการ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันทีและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
Advertisement