Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ESA เฝ้าติดตาม ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 แม้มีโอกาสพุ่งชนโลกแค่ 1.2%

ESA เฝ้าติดตาม ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 แม้มีโอกาสพุ่งชนโลกแค่ 1.2%

4 ก.พ. 68
15:58 น.
|
85
แชร์

ESA ยังเฝ้าติดตาม ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ถึงแม้จะมีโอกาสพุ่งชนโลกแค่ 1.2% ในปี 2032 ถูกจัดให้อยู่ในระดับ 3 ของ "สเกลความเสี่ยงในการพุ่งชนโตรีโน"

เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อมูล เกี่ยวกับ ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ที่แม้จะมีโอกาส 1% ที่จะพุ่งชนโลก แต่ก็ไม่อาจมองข้าม โดย สำนักงานปกป้อง (Planetary Defense Office) ขององค์กรอวกาศยุโรป (ESA) กำลังเฝ้าติดตาม 2024 YR4 ดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบใหม่ ซึ่งอาจมีโอกาสที่จะพุ่งชนโลกในปี ค.ศ.2032 แต่เป็นไปได้น้อยมาก

- ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 มีโอกาสเกือบ 99% ที่จะผ่านใกล้โลกอย่างปลอดภัย ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2032 แต่ค่าความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลกที่มีน้อยนั้น ก็ไม่สามารถมองข้ามได้

- นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดความกว้างระหว่าง 40 - 100 เมตร

- ในตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคำนวณได้ว่าบริเวณใดบนโลกที่เสี่ยงต่อการพุ่งชนอันน้อยนิดนี้

- กลุ่มที่รับผิดชอบด้านดาวเคราะห์น้อยในระดับนานาชาติ 2 กลุ่มที่ทางสหประชาชาติรับรอง กำลังประเมินถึงก้าวต่อไปในเรื่องนี้

- เมื่อเทคโนโลยีการตรวจหาดาวเคราะห์น้อยของมนุษย์พัฒนาขึ้น นักดาราศาสตร์อาจสามารถตรวจพบวัตถุในอวกาศที่ผ่านใกล้โลกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นวัตถุที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยตรวจพบมาก่อนหน้านี้

เรารู้อะไรแล้วบ้าง

ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก 2024 YR4 ค้นพบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.2024 โดยกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (ชื่อย่อมาจาก Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ที่ริโอ อูร์ตาโด (Río Hurtado) ในประเทศชิลี

หลังจากการค้นพบได้ไม่นาน ระบบเตือนภัยดาวเคราะห์น้อยอัตโนมัติได้ประเมินว่ามีโอกาสน้อยมากที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2032 ซึ่งดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 มีขนาดความกว้างอยู่ในช่วงระหว่าง 40 - 100 เมตร นักดาราศาสตร์ประเมินว่าดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดประมาณนี้จะมีโอกาสชนโลกในทุกๆ ไม่กี่พันปี และจะสร้างความเสียหายรุนแรงเฉพาะบริเวณพื้นที่พุ่งชน

แม้จะมีความเสี่ยงในการพุ่งชนเพียงน้อยนิด แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ก็มีความเสี่ยงสูงสุดในบัญชีรายชื่อดาวเคราะห์น้อยที่มีความเสี่ยงของทาง ESA โดยตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเป็นต้นมา นักดาราศาสตร์ได้ติดตามสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยด้วยกล้องโทรทรรศน์จากทั่วโลก และใช้ข้อมูลใหม่มาปรับปรุงข้อมูลเรื่องขนาดและวงโคจรให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

จนล่าสุดผลการประเมินวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2025 ทาง ESA คาดว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีโอกาสที่จะชนโลกในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.2032 อยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นค่าที่สอดคล้องกับการประเมินโดยศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลก (CNEOS) ของทางนาซา และเว็บไซต์บริการข้อมูลด้านดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก NEODyS

ในปัจจุบันนี้ ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ถูกจัดให้อยู่ในระดับ 3 ของ “สเกลความเสี่ยงในการพุ่งชนโตรีโน” (Torino Impact Hazard Scale) ส่งผลให้ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม ค่าความเสี่ยงในการพุ่งชนของดาวเคราะห์ มักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงแรก ๆ ก่อนที่จะลดลงอย่างรวดเร็วจนเป็น 0 หลังมีข้อมูลการสังเกตการณ์เพิ่มเติมภายหลัง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 น่าจะมีขนาดกว้างกว่า 50 เมตร และมีค่าความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลกมากกว่า 1% ภายในระยะเวลาอีก 50 ปีนับจากนี้ ทำให้หน่วยงานด้านดาวเคราะห์น้อย 2 หน่วยงานต้องเข้ามาจัดการ ได้แก่ เครือข่ายเตือนภัยดาวเคราะห์น้อยนานาชาติ (IAWN) และกลุ่มที่ปรึกษาเพื่อวางแผนภารกิจอวกาศ (SMPAG)

เครือข่ายเตือนภัยดาวเคราะห์น้อยนานาชาติ

เครือข่ายเตือนภัยดาวเคราะห์น้อยนานาชาติ (International Asteroid Warning Network : IAWN) มีองค์การนาซาของสหรัฐฯ เป็นประธาน มีหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มหน่วยงานจากนานาชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตามและวิเคราะห์คุณสมบัติของดาวเคราะห์น้อย ทาง IAWN ยังพัฒนานโยบายยุทธศาสตร์เพื่อช่วยรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย และวางแผนแนวทางบรรเทาผลกระทบที่จำเป็น

องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เป็นหนึ่งในสมาชิกของ IAWN และกำลังประสานงานเพื่อสังเกตการณ์และอัปเดตผลการประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ

วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยรอบดวงอาทิตย์มีรูปร่างเป็นวงรี ซึ่งในตอนนี้ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 กำลังเคลื่อนห่างออกจากโลกในวิถีที่เกือบเป็นแนวเล็ง ทำให้การวิเคราะห์วงโคจรที่แม่นยำสูงนั้นยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

ในช่วงอีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้ ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะเริ่มริบหรี่ถึงระดับที่สังเกตได้ยากมากจากโลก ในช่วงนี้ ทาง ESA จะประสานงานการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังกว่านี้ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ VLT ในประเทศชิลีของทางหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (ESO) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลดาวเคราะห์น้อยให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

หลังจากนี้ เป็นไปได้ว่าความสว่างของดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะริบหรี่ลงเกินกว่าที่จะสังเกตการณ์ได้ ทำให้การวิเคราะห์วงโคจรที่แม่นยำก็ยิ่งทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะยังอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกของทาง ESA จนกว่าจะสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้อีกครั้งในปี ค.ศ. 2028

กลุ่มที่ปรึกษาเพื่อวางแผนภารกิจอวกาศ

กลุ่มที่ปรึกษาเพื่อวางแผนภารกิจอวกาศ (Space Mission Planning Advisory Group : SMPAG) มีองค์การอวกาศยุโรป (ESA) เป็นประธาน มีหน้าที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับนานาชาติ การส่งเสริมโอกาสให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและภารกิจต่างๆ รวมถึงจัดการกิจกรรมวางแผนแนวทางบรรเทาความเสี่ยงจากวัตถุใกล้โลก

กลุ่มนี้จะจัดการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในต้นเดือนกุมภาพันธุ์เพื่อประเมินแนวทางขั้นต่อไป หากค่าความเสี่ยงในการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ยังเกิน "ค่าเกณฑ์ 1%" ทาง SMPAG จะส่งข้อเสนอไปยังสหประชาชาติ และอาจเริ่มประเมินถึงทางเลือกต่างๆ เกี่ยวกับภารกิจอวกาศเพื่อรับมือความเสี่ยงนี้

Advertisement

แชร์
ESA เฝ้าติดตาม ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 แม้มีโอกาสพุ่งชนโลกแค่ 1.2%