เปิดที่มาที่ไปคดี “ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รนะนันท์” กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สู่การฟ้องร้องทางกฎหมาย
วันนี้ศาลทุจริตประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษากรณีที่ “ทรูไอดี” ยื่นฟ้อง “ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รนะนันท์” กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีคำพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา เราจะมาดูที่มาที่ไปของคดีนี้ว่าเป็นอย่างไร
เรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อปี 2566 โดย กสทช. ได้รับร้องเรียนว่า แพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน "ทรูไอดี" มีโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์จาก กสทช. หรือ ฟรีทีวี
ต่อมา คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ของ กสทช. ที่มี ศ.ดร.พิรงรอง เป็นประธาน ได้สั่งการให้ รักษาการเลขาธิการ กสทช. ออกหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จำนวน 127 ราย ให้ตรวจสอบดูว่า ได้นำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดหรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใด และปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ที่เรียกว่า กฎ "มัสต์แครี่" (Must Carry) หรือไม่
โดยกฎ Must Carry คือ กฎที่ประกาศออกมาหลังประเทศไทย เปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ จากอนาล็อกมาเป็น โทรทัศน์ดิจิทัล เมื่อปี 2556 โดยกฎนี้มีมาเพื่อให้หลักประกันว่า ทุกครัวเรือนจะสามารถเข้าถึงรายการจากสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง
สาระสำคัญคือ ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ทั้งในระบบทีวีดิจิทัลและแบบบอกรับสมาชิกที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. (เช่น เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และ ทีวีอินเตอร์เน็ต หรือที่เรีบกว่า IPTV) มีหน้าที่ต้องให้สมาชิกได้รับบริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไปโดยตรงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ ดัดแปลง ผังรายการและเนื้อหารายการ แปลง่ายๆ คือต้องรับไปออกแบบทั้งก้อนไม่สามารถตัดต่อหรือแทรกอะไรเข้ามาได้
ซึ่งการออกหนังสือสอบถามของ อนุกรรมการ กสทช. ที่มี “ศ.ดร.พิรงรอง” เป็นประธาน ไม่ได้ส่งไปถึง “ทรูไอดี”
โดยทาง “ทรูไอดี” ระบุว่า การทำเช่นนี้ อาจทำให้ผู้ประกอบการทีวี เข้าใจว่า “ทรูไอดี” อาจเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และอาจถูกระงับเนื้อหารายการที่ส่งไปออกอากาศได้
ซึ่งการกระทำดังกล่าว มีพฤติการณ์หรือเหตุที่มีสภาพร้ายแรงที่แสดงถึงความมีอคติและความไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ จึงนำมาสู่การฟ้องร้องทางกฎหมายในเวลาต่อมา
และบริษัทระบุว่า ตนเองไม่ใช่ ผู้ประกอบการโครงข่ายโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต หากแต่เป็น แพลตฟอร์ม OTT หรือ Over The Top ซึ่งเป็นการให้บริการ สตรีมมิงผ่านอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่ง กสทช. ยังไม่มีประกาศหรือระเบียบเฉพาะที่ดูแลแพลตฟอร์ม OTT
Advertisement