เสียงจากหัวใจคู่รักข้ามเพศ ทรานส์แมน-หญิง อย่าง "กุ๊ก ฐิติกาญจน์ และ จูน อารยา" สะท้อนความสำคัญสมรสเท่าเทียม สู่คู่ชีวิตที่ถูกยอมรับอย่างสมบูรณ์
นับตั้งแต่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน เราต่างได้เห็นคู่รัก LGBTQ ออกมาจดทะเบียนสมรส รับสิทธิที่ควรได้ และเปิดตัวอย่างสง่าผ่าเผย ท่ามกลางสังคมไทยที่เปิดรับและร่วมยินดีกับกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงคู่ของ กุ๊ก ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร ทรานส์แมน (หญิงข้ามเพศไปเป็นชาย) และ จูน อารยา วัฒนประดิษฐ คู่รัก ทรานส์แมน- ผู้หญิง ที่อมรินทร์ออนไลน์มีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งคู่ ถึงเส้นทางความรักที่เกิดขึ้น การตัดสินใจทรานส์แมน และ สมรสเท่าเทียม ที่เป็นก้าวสำคัญความเท่าเทียมทางเพศของทั้งคู่
จุดเริ่มต้นความรัก
จูน อารยา - เรารู้จักกันเมื่อ 14 ปีที่แล้วค่ะ เป็นเพื่อนกันมาก่อน เรียนมหาวิทยาลัยมาที่เดียวกันแต่คนละสาขา จุดเริ่มต้นคือกีฬามหาวิทยาลัย ที่เขาจะคัดเลือกแต่ละคนมาลงเล่นกีฬา ซึ่งก่อนหน้านั้นจูนเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลอยู่แล้ว ส่วนฝั่งของกุ๊กตอนนั้นเขาเป็นทอมอยู่ ตัวสูง หน่วยก้านดี เลยถูกจับลงมาอยู่ในทีม โดยที่เราไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เพิ่งมารู้จักกันตอนนั้น
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - มันจะมีมุมเล็กๆ นิดนึงคือ จูนเขาเป็นคนเฟรนด์ลี่แล้วเข้ากับคนอื่นง่าย ส่วนกุ๊กจะเป็นคนที่เงียบๆ ไม่ค่อยกล้าคุยกับคนแปลกหน้า แล้วความประทับใจแรกคือเขานั่งอยู่ท้ายแถวส่วนเราอยู่หน้าแถว เขาก็ไล่ถามขึ้นมาเลยว่าเธอชื่ออะไร เราก็คิดในใจอย่าถามกูนะ ไม่อยากคุยกับคนๆ นี้ คือเราเป็นคนค่อนข้างจะอินโทรเวิร์สนิดนึง แล้วพอมาถึงเราจริงก็หันหน้าไปบอกว่าชื่อกุ๊กแล้วหันกลับ
แต่ในใจคือเรารู้สึกว่าทำไมผู้หญิงคนนี้พูดเก่งจัง แล้วพอได้อยู่ในทีมบาสเก็ตบอลด้วยกันประทับใจที่เขาเป็นคนรักเพื่อนมาก คอยดูแลเพื่อนไม่มีรถมาซ้อมก็จะเสนอตัวเอารถเพื่อนขับไปรับ เราก็เลยรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้น่ารักจัง ก็เริ่มคลุกคลีจนสนิทแล้วก็เริ่มรู้สึกชอบเขา กุ๊กเป็นคนจีบเขาก่อน แต่เขาไม่เชื่อ คือเวลาซ้อมบาสเราต้องวิ่งไล่ตามกันใช่ไหมครับ เราก็จะพยายามไปอยู่ใกล้เขา แต่เขาก็ไม่สงสัย เพราะเขาคิดว่าไม่น่าจะมีใครชอบเขา เราก็จะค่อยๆ เข้าไปใกล้มากขึ้น
จนถึงตอนที่ไปเดินงานกาชาดด้วยกัน กุ๊กแอบไปซื้อสร้อยคอที่เขียนคำว่า Love แล้วเดินไปข้างหลังเขาแล้วใส่ให้เลย โดยที่ตอนนั้นยังเป็นเพื่อนกันอยู่
จูน อารยา - คือเขาทำท่าเหมือนจะจีบ แต่เราไม่เชื่อ นึกว่าเขาแกล้ง คิดว่าเขาจะมาชอบของแปลกอย่างไรได้ยังไง อีกอย่างคือต้องบอกก่อนว่าจูนเป็นผู้หญิง ไม่ได้ชอบทอมตั้งแต่แรก แล้วเข้ามหาลัยปีแรกๆ ไม่ได้มองหาความสัมพันธ์ในเชิงแฟนตั้งแต่แรก แต่พอเริ่มเห็นเขามากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่าคนนี้ชอบทำตัวแปลกๆ พอเขาเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในมุมมองของเรามากขึ้น จริงใจในหลายๆ เรื่อง ก็เลยเริ่มมองเขามากขึ้น
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - แล้วด้วยความที่เขาเป็นผู้หญิง เราก็ต้องถามเขาว่าเขาโอเคหรือเปล่า ถ้าไม่โอเคก็ไม่เป็นไร เราก็อยู่ในเฟรนด์โซนต่อไป
จูน อารยา - ต้องเล่าว่าก่อนหน้าที่เขาจะทรานส์แมน เขาจะเป็นทอมสไตล์ผมทรงรากไทรที่ฮอตในสมัยก่อน ตัวไม่ได้ผิวคล้ำแบบตอนนี้ และที่เขาได้เปรียบคือความสูง 170 อัพ และทอมในมหาลัยตอนนั้นมันก็มีไม่เยอะ เขาก็เลยเป็นที่รู้จัก ถามว่าฮอตไหม ฮอตเลย รุ่นพี่รุ่นน้อง ดาวคณะดาวมหาลัยมาชอบเยอะค่ะ
ตอนขอเป็นแฟน
จูน อารยา - มันมีเหตุการณ์นึงที่เขาส่งเพื่อนมาหลอก ประมาณว่าตัวเขามีปัญหาให้ไปหาที่ห้องหน่อย เราก็ด้วยความรักเพื่อนก็เลยไป พอไปถึงเปิดประตูห้องเจอเพื่อนยืนอยู่ แล้วเขาบอกว่าเป็นแฟนกันนะ เราก็อึ้ง ช็อก แล้วก็ตกลงไป
ตอนนั้นเราแค่ไม่แน่ใจเพราะไม่เคยมีแฟนเป็นทอมมาก่อน แต่เราไม่ได้รังเกียจหรือมองว่าเป็นเพศไหนหรือเจาะจง เราแค่รู้สึกว่าถ้าชอบก็โอเค แต่ ณ ตอนนั้นเขาก็เป็นคนดีนะ เป็นคนที่ใส่ใจคนอื่น แล้วก็ชอบดูแลเทคแคร์คนอื่น ก็เริ่มชอบๆ แต่แค่ไม่มั่นใจว่ามาจริงหรือมาหลอก
หลังคบกันแล้ว
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - เหมือนเดิมเลย ทุกวันนี้ก็เหมือนเดิม กุ๊กรู้สึกว่าการที่มีเขาเข้ามาเติมเต็ม อย่างที่บอกเราเป็นคนไม่มีความมั่นใจ ค่อนข้างเป็นอินโทรเวิร์ส ก็ไม่ค่อยจะสนใจสิ่งรอบตัว เวลากุ๊กโฟกัสอะไรสักอย่างกุ๊กจะโฟกัสแค่สิ่งนั้นอย่างเดียว แต่คือเขาเป็นเหมือนอีกโลกนึงที่เข้ามาทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากที่เราไม่กล้าพูดเขาก็สอนให้เรากล้าพูดมากขึ้น พยายามเข้าหาคนอื่น มันเป็นเหมือนอีกโลกนึงที่ทำให้เราได้รู้สึกแตกต่างแต่มันดีขึ้น
ครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ ไม่เคยห้าม
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - ที่บ้านกุ๊กเขาจะซึมซับว่าเราเป็นทอม เป็นคนห้าวๆ มานานแล้ว คืออาจจะเป็นความชอบของป๊าด้วยส่วนนึง ที่เลี้ยงมาบอยๆ
จูน อารยา - คือบ้านเขามีลูกชายคนโต 1 คน ลูกสาวคนกลาง 1 คน และกุ๊กเป็นลูกสาวคนเล็ก แต่ด้วยความที่ป๊าเป็นข้าราชการแต่ค่อนข้างฟรีสไตล์ แล้วพอเราไปสัมผัสเหมือนป๊าจะอยากให้กุ๊กเป็นทอมอย่างไรไม่รู้ เพราะการเป็นทอมหรือผู้ชายมันดูแลตัวเองได้
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - ถ้ามองในมุมป๊าเป็นคนที่หวงลูกสาวมาก แต่ถ้าเลี้ยงให้ดูแลตัวเองได้ป๊าจะรู้สึกปลอดภัย เขาก็เลยสอนกุ๊กชกมวย ยิงปืนมาตั้งแต่เด็ก คือให้เราซึมซับ ตอนนั้นมันแยกไม่ออกครับว่าเราชอบอะไร แค่รู้สึกไม่ได้จอยกับการเล่นพ่อแม่ลูกหรือเล่นตุ๊กตา ส่วนป๊าก็จะเอาของเล่นมาให้เราเล่นเป็นนวมต่อยมวย แล้วเราก็รู้สึกเอ็นจอยที่ได้ใช้แรง มีเสื้อผ้าผู้ชาย ซื้อรถบังคับทุกรุ่น แล้วป๊าจะภาคภูมิใจว่าโตมากับมือป๊า ส่วนคุณแม่จะเป็นคนยังไงก็ได้ คือที่บ้านกุ๊กเปิดกว้างเลย เป็นอะไรก็ได้แต่ป๊าจะสอนอย่างเดียวว่าคุณจะต้องเข้าสังคมให้เป็นนะ ต้องให้เกียรติคน เพราะป๊าเป็นข้าราชการ เขาจะซีเรียสเรื่องนี้อย่างเดียว
จูน อารยา - ส่วนของจูน เราก็เป็นผู้หญิงปกติใช่ไหมคะ มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่พอกุ๊กเขาเริ่มเอาตัวเองเข้ามาเราก็มีเล่าให้แม่ฟังบ้างว่ามีเพื่อนคนนึงมันแปลกๆ พอหลังจากที่เราตกลงคบกันก็มีพาไปหาแม่โดยบอกว่าเพื่อน แต่แม่เขาก็รู้ ด้วยความที่จูนกับแม่เหมือนกันมาก บางทีเราทะเลาะกันบ่อย พอทะเลาะปุ๊บเขาจะเข้าหากุ๊ก หลังจากนั้นมีอะไรคุณแม่ก็จะปรึกษากุ๊กแล้วเขากลายเป็นลูกรักของแม่ไปเลย แล้วพอแม่รู้แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเลยค่ะ
ปัญหาที่เจอ ในวันที่ยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
จูน อารยา - ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกลุ้นมากว่ามันต้องได้สักทีนึงนะ เพราะว่าเราก็เป็นอีกคู่หนึ่งที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ เพราะว่าไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมารองรับ เช่น การเข้าโรงพยาบาลหรือการรักษาสิทธิต่างๆ มันไม่สามารถทำได้แบบทันท่วงที มันจะมีปัญหาในส่วนนี้บ่อย เราก็รู้สึกว่า ทำไมน้า..ชีวิตลำบากจังเลย เราอยู่ด้วยกันมาตลอดมันมีอะไรยืนยันว่าเราเป็นแฟนกันมานานแล้ว แต่เราทำอะไรในส่วนตรงนั้นไม่ได้เลย มันมีเหตุการณ์ครั้งนึงคือกุ๊กเข้าโรงพยาบาลตอนตี 1 ตี 2 แล้วพอเข้าห้องฉุกเฉินเขาให้เรายืนยันสถานะ เราบอกว่าเราเป็นแฟน แต่เข้าบอกว่าแฟนไม่ได้ เขาก็ให้เรายืนยัน ซึ่งเราติดต่อใครไม่ได้เพราะมันดึกมากแล้ว
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - เอาจริงๆ ตอนนั้นมันค่อนข้างโคม่าเลยครับ กุ๊กเริ่มไอเป็นเลือดแล้ว ตอนนั้นกุ๊กทรานส์แมนแล้ว แต่ในบัตรคำนำหน้ายังเป็นนางสาวอยู่ ระหว่างที่เขาดูบัตรประชาชนเพื่อยืนยัน กุ๊กบอกเขาว่าพี่ กุ๊กเป็นคนข้ามเพศ จังหวะนั้นคือเราหายใจไม่ออกแล้ว ส่วนจูนเขาก็ต้องไปเดินเรื่อง จนกุ๊กบอกว่าพี่ช่วยพาผมเข้าห้องก่อนครับ ผมไม่ไหวแล้ว เขาก็ยังเถียงกันอยู่ว่าคือ นางสาว
จูน อารยา - คือต้องบอกก่อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นมันยังเป็นเรื่องแปลกอยู่ เขาก็จะมีคำถามเยอะ แทนที่จะมาโฟกัสกับการรักษาพยาบาล ซึ่งตอนนั้นกุ๊กทรานส์แมนแล้ว แต่ในบัตรคำนำหน้ายังเป็นนางสาวอยู่ สภาพร่างกายมันทรานส์ฟอร์มมาแล้ว จนสุดท้ายรักษาเสร็จประมาณตี 5 พอเรานั่งรถกลับบ้านเรารู้สึกว่า เออ มันไม่มีอะไรมารองรับเราเลยเนอะ เราทำไมเจอเหตุการณ์แบบนี้
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - กับเหตุการณ์ที่สองก็คือเรื่องทรัพย์สินร่วมกันคือเราซื้อบ้าน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่เขาแจ้งว่าเราสามารถจะยื่นกู้ร่วมได้ แล้วเขาบอกว่าหลักฐาน ต่อให้ยังไม่มีกฎหมาย ก็เอาเป็นรูปถ่ายก่อนก็ได้เพราะเราแต่งงานกันแล้วจริง ยืนยันว่าเป็นคู่รักกันจริงๆ นะ แต่สุดท้ายพอยื่นเรื่องไปปุ๊บเขาบอกว่าใช้ไม่ได้
จูน อารยา - คือมันต้องใช้ชื่อใครคนใดคนหนึ่งกู้ เสร็จมันจะมีชื่อของผู้รับผลประโยชน์ ก็ไม่สามารถลงได้ ก็ต้องเป็นครอบครัวไปก่อน เราจะเจอปัญหาตรงนี้ค่ะ
วันที่กฎหมายผ่านอย่างเป็นทางการ
จูน อารยา - ตอนแรกที่มันก่ำกึ่งว่าจะผ่านไม่ผ่าน เราก็ลุ้นมากว่าว่ามันจะมีคนเข้าใจไหม ต้องบอกก่อนว่ากฎหมายในประเทศไทยมันมีหลายอย่างที่มันไม่ครอบคลุม เราก็ลุ้นว่ามันจะมีคนหรือผู้ใหญ่เข้าใจในมุมกลุ่มคนแบบเราไหม แต่ก็มองอีกมุมว่าถ้าเกิดมันผ่านไปได้ หลายๆ คนจะมีสิทธิเท่าเทียมกันขึ้นมาหมดเลย คือเราแค่คู่รักคู่หนึ่งในสังคม แต่อยากให้สิทธิประโยชน์เหมือนที่คนอื่นเขาได้ เรามองว่าถ้ามันผ่านจะดีใจมาก แล้วพอสุดท้ายมันผ่าน ดีใจมาก คุยกันแล้วว่ายังไงก็คือจดได้เลยเพราะว่าบ้านมีแล้ว รถมีแล้ว เราแค่อยากให้ผู้รับผลประโยชน์หรือในส่วนการดูแลสิทธิซึ่งกันและกัน เป็นอีกคนหนึ่ง เพราะเราทำร่วมกันมาหมดเลย ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งทำคนเดียว แต่ในแง่กฎหมายตอนนั้นมันยังไม่ได้ อย่างจูนทำงานในวงการทัวร์พวกยื่นวีซ่าสำหรับคู่รักที่เป็น LGBTQ ในการรับรองการเดินทางไปต่างประเทศก็ทำไม่ได้เหมือนกัน เราก็มองในมุมอนาคตต่อไปว่าถ้าเกิดมันผ่านตรงนี้ มันจะได้สิทธิหลายอย่างมากๆ ที่คนทั่วๆ ควรจะได้ เราหวังแค่ตรงนั้น
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - ตอนนั้นมันรู้สึกแค่ปลดล็อก ดีใจมันดีใจไปแล้วแต่มันปลดล็อก เราก็มานั่งวางแผนกันว่าสเต็ปต่อไปเราทำอะไรต่อดี รู้สึกว่ามันสมบูรณ์แล้วครับตอนนี้ มันเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์
จูน อารยา - มันก็เป็นครอบครัวแหละ แต่เราแค่รู้สึกว่าตอนนี้มันเป็น 100 % แล้ว ตอนนั้นมันขาดแค่ส่วนเล็กๆ แต่พอมันผ่านปุ๊บ มันรู้สึกว่าเวลาเราจะทำอะไรมันสบายใจขึ้น มันสมบูรณ์จริงๆ คู่ชาย-หญิง แต่งงาน จดทะเบียนคือเขาจบ แต่ของเรายังมีการลุ้นอะไรหลายๆ อย่าง พอวันนั้นที่มันมาถึงมันดีใจไปแล้ว ได้สักทีเนอะ ถึงเวลาของเราแล้ว แล้วพอมาเห็นคู่คนอื่นก็รู้สึกว่าเวลาเรามองหน้ากัน เราใจด้วยกันหมดเลย (เสียงสั่น) พอมันผ่านไปปุ๊บ เออ มันดีเนอะ เหมือนทุกคนได้ปลดล็อก
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - แค่รู้สึกว่าวันนี้มันคือความเท่าเทียม สิ่งที่ทุกคนต่อสู้มามันคือความเท่าเทียมจริงๆ เท่าเทียมกับชาย-หญิงทั่วไปโดยที่ไม่มีคำว่าเพศมาแบ่งแยก
ตัดสินใจข้ามเพศ เป็น "ทรานส์แมน"
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - ตอนกุ๊กเด็กๆ ไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นผู้หญิงหรือว่าผู้ชาย แต่กุ๊กแค่อยู่กับเพื่อนผู้ชายด้วยกันเยอะ แล้วรู้สึกว่า ทำไมเพื่อนมันยืนฉี่ได้ แต่เราทำไม่ได้ ทำไมมันมีไม่เหมือนกัน แต่ตอนนั้นไม่ได้มานั่งซีเรียสว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แล้วมาเริ่มรู้สึกตัวเองว่าเราไม่ชอบความอ่อนหวาน แต่ไม่ใช่คนกระด้างนะ แค่รู้สึกว่าเป็นผู้ชายคนนึงเลยแต่แค่อยู่ในร่างผู้หญิง
พอเริ่มโตก็เริ่มหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ดูว่าผู้หญิงเป็นผู้ชาย-ผู้ชายเป็นผู้หญิง ทำยังไง ก็เลยเจอว่ามันมีการเทคฮอร์โมนแต่ว่ายังไม่มีในไทย ตอนนั้นคุยกับรุ่นพี่คนนึงที่เราไปขอคำปรึกษาจากเขาเพราะเขาอยู่ต่างประเทศ เขาบอกว่าการข้ามเพศถ้าจะเปลี่ยนจากผู้หญิงไปเป็นผู้ชาย จะต้องรับฮอร์โมนโดยการฉีด ซึ่งตอนนั้นที่ไทยยังไม่มี เราก็หาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ประมาณ 2-3 ปี ซึ่งตอนนั้นเรายังเรียนอยู่มหาลัย เราหาข้อมูลตรงนี้แต่ไม่ได้บอกเขา จนเริ่มรู้สึกว่าอยากข้ามเพศแล้ว ก็เลยบอกเขาก่อนว่าอยากตัดหน้าอก เอาออกก่อนเลยจะได้รู้สึกว่าเป็นชายมากขึ้น
จูน อารยา - ซึ่งการตัดหน้าอกเราไม่ติดอยู่แล้ว เพราะเรารู้สึกว่ามันลำบากจริงๆ นั่นแหละ กับการมารัดหน้าอกอยู่ตลอดเวลา แล้วหน้าอกเขาไม่ได้ใหญ่ เราเห็นยังอึดอัดแทน ถ้าเกิดว่ามันมีทางเลือกตรงนั้นแล้วทำได้ เราก็ไม่ได้ติดอะไร
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - อันดับแรกก็ไปตัดหน้าอกก่อน แล้วสักประมาณ 1-2 ปีต่อมา โรงพยาบาลยันฮีมีรับฮอร์โมน แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขาต้องฝึกงานพอดีที่กรุงเทพ ก็เลยได้ช่องทาง กุ๊กแอบไปโรงพยาบาลเลยโดยที่ไม่บอกเขาก่อน เพราะเราคิดแล้วว่าถ้าบอกเขาไม่ให้เราทำแน่ แล้วต้องบอกก่อนว่ากุ๊กเป็นคนป่วยบ่อย เขาเลยค่อนข้างซีเรียสเรื่องสุขภาพ ก็เลยติดเองเลยว่าเขาไม่ให้ทำแน่นอน กุ๊กไปปรึกษาหมอคุยกับหมอ2 ครั้ง ซึ่งเป็นจิตแพทย์ แล้วหมอเขาบอกเราว่าจริงๆ แล้วคุณสามารถข้ามเพศได้นะ เพราะจากที่คุยจากประเมินกันมาคุณมีแนวโน้มเป็นผู้ชายได้ หลังจากนั้นก็เริ่มรับฮอร์โมนมาเลย
ซึ่งจริงๆ การทรานส์แมนเนี่ย พอเรารับฮอร์โมนเสร็จแล้ว สเต็ปต่อไปถ้ายังไม่ได้ตัดหน้าอก ก็ต้องตัดหน้าอก เสร็จแล้วก็มีตัดมดลูก ย้ายรังไข่ เตรียมท่อปัสสาวะ ต่ออวัยวะเพศ เป็นสเต็ปต่อไป แต่ในการทำสเต็ปเหล่านี้หมอเขาไม่ได้บังคับเลย แค่คุณรับฮอร์โมนคุณก็เป็นผู้ชายแล้วในแบบฉบับของหมอนะ ตามการแพทย์คือข้ามเพศแล้วเป็นทรานส์แมนแล้ว หมอจะไม่ได้มากำหนดว่าคุณจะต้องผ่าตัดถึงขั้นสุดท้าย คุณถึงจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ชาย มันแล้วแต่ละคนว่าจะไปถึงสเต็ปไหน บางคนรับแค่ฮอร์โมน ตัดหน้าอกก็พอ
จูน อารยา - ด้วยความที่เราอยู่ด้วยกันมาทุกวัน เราจับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มีคนรอบข้างมาทักว่ากุ๊กดูเปลี่ยนไปนะ เปลี่ยนในทีนี้คือสรีระร่างกายดูเปลี่ยนไป เสียงเริ่มแตก มีไรหนวด พอเริ่มสังเกตได้ก็เลยถามเขาว่าไปทำอะไรมา ทำไมถึงดูเปลี่ยนไปเขาเลยบอกว่าไปเทคฮอร์โมนมา
จริงๆ ต้องบอกก่อนว่าใจเราไม่โอเคเลย ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากให้เขาทำนะคะ แต่ไม่โอเคเพราะทำอะไรไม่ปรึกษากัน คือเราไม่มีความรู้เรื่องการเทคฮอร์โมนเพราะตอนนั้นมันใหม่มาก แล้วการที่เราอยู่ด้วยกันสองคนแล้วคนๆ นึงไปทำอะไรมา เราจำเป็นจะต้องรู้เพราะเกิดอะไรขึ้นมาเราตอบคำถามคุณหมอไม่ได้เลย เราไม่ได้ห้ามแต่แค่เราเป็นห่วง พอเขาทำอะไรไม่บอกแล้วมันเกิดขึ้นไปแล้ว เราทำได้แค่โมโหค่ะ (หัวเราะ)
หลังจากที่ทรานส์มาแล้ว ถ้าคนที่เขาไม่ได้รู้จักเรา เขาจะไม่รู้เลย ขนาดจูนเอาไปลงใน TikTok เขายังมองว่าจูนเป็นเป็นเลดี้บอยเลย เพราะกุ๊กดูเหมือนผู้ชายมาก ในมุมของเราถ้าเกิดเขาไม่รู้ เขาก็จะไม่ได้มีสายตาแปลกๆ แต่ถ้าเขารู้อย่างเช่นในยุคที่ยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนี้ มันจะมีคำถามเกิดขึ้นมา เช่น พอเราเห็นบัตรประชาชนปุ๊บ มันคุยยาว บางทีเราขับรถข้ามจังหวัดหรือตรวจจราจร เรื่องมันยาวจริงๆ แล้วทุกคนจะพูดตรงๆ ว่าทำเหมือนเราเป็นตัวประหลาด แล้วเราก็ต้องรู้สึกว่าทำไมมันดูแปลกมันดูผิดปกติหรอ ทีแบบสาวประเภทสอง แบบทรานส์วูแมนยังมีเลย คือบางทีเจอคนถามดีๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรนะคะ แต่มันก็จะมีบางกลุ่มที่ทำเหมือนเป็นเรื่องประหลาด เหมือนเราเป็นตัวประหลาด ทั้งๆ ที่เราก็เป็นคนปกติ แต่แค่เขาอาจจะไม่ได้มีความรู้ตรงนั้น เราก็ไม่ได้มองว่าเขาไม่มีความรู้เรื่องนี้แล้วเขาผิดนะคะ แต่เขาอาจจะต้องพอรู้ว่ามันมีเรื่องแบบนี้ อาจจะอัพเดต เปลี่ยนความคิดเพิ่มความรู้เข้าไปจะได้เข้าใจในส่วนนี้ แต่ตอนแรกๆ คือเราไม่ได้เจอคนที่เข้าใจขนาดนั้น
ภูมิใจ..ที่วันนี้คนเปิดรับมากขึ้น
จูน อารยา - ช่วงหลังๆ มันจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม แล้วเรารู้สึกว่าตอนแรกๆ เราอาจจะเป็นแค่บางกลุ่ม คือกลุ่มเฉพาะ พวกที่เป็น LGBTQ เท่านั้น แต่พอหลังจะมีกลุ่มผู้ใหญ่ที่เขาเป็นชายแท้หญิงแท้ แต่ก็ยังมองเห็นความสัมคัญของ LGBTQ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นกลุ่มที่ขยายใหญ่แล้วนะแล้วเขายอมรับเรามากขึ้น ก็รู้สึกดีใจที่ยังมีคนที่พยายามทำความเข้าใจในมุมของเราอยู่
ถ้าพูดถึงตัวเอง จูนก็เป็นผู้หญิงปกติเลยที่เราไม่ได้รับผลกระทบอะไรตรงนั้นแต่เราอยู่กับกลุ่มแบบนี้เยอะ พอช่วงหลังๆ มันมีการขับเคลื่อนขึ้นมา เรารู้สึกว่าดีจังที่ประเทศตอนนี้มันมีการพัฒนามากขึ้น หมายความว่าเข้าใจในมุมตรงนี้และช่วยกันผลักดัน จากที่อยู่ในเฉพาะกลุ่ม LGBTQ เล็กๆ กลายเป็นวงกว้าง พอวันนี้ที่สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว รู้สึกว่ามีผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน อย่าง ท่านนายกรัฐมนตรีหรือคนในกระทรวงต่างๆ เขามีความดีใจในมุมตรงนี้ แล้วทำให้เรารู้สึกปลื้มใจมากว่าในที่สุด เราถูกมองเป็นคนปกติซะทีหนึ่ง
กุ๊ก ฐิติกาญจน์ - ที่กุ๊กเจอจะเป็นมุมผู้ใหญ่ ข้าราชการ หรือหน่วยงาน ย้อนกลับไปในสมัยก่อน เราแค่รู้สึกว่าอันนี้ไม่ได้เกิดการยอมรับเพราะว่าไม่ได้มีคำที่รู้จัก อย่างกุ๊กเป็นทรานส์แมนใช่ไหมครับ เขาก็ยังเรียกทอมเหมือนเดิม ในประเด็นนี้แค่อยากจะบอกว่าทอมก็คือผู้หญิงที่ไม่ได้รับฮอร์โมน เขาก็ยังเป็นผู้หญิงนี่แหละ บางคนอาจจะตัดหรือไม่ตัดหน้าอกก็ได้แต่ไม่ได้รับฮอร์โมน เพราะฉะนั้นเขาอาจจะมีการแต่งตัวเป็นผู้ชาย ทะมัดทะแมงหน่อย แต่ไม่ได้ข้ามเพศเหมือนกุ๊ก
จูน อารยา - คือต้องพูดตรงๆ นะคะ สมัยก่อนมันจะมีศัพท์อย่างเช่น กะเทย ทอม แค่นั้น แต่หลังๆ พอเขาเริ่มเปลี่ยนศัพท์ มันรู้สึกว่าเราถูกให้เกียรติมากขึ้น มันดีมากๆ ที่ทุกคนให้เกียรติเพื่อนเรา แฟนของเรา และไม่เรียกเขาว่าทอมเพราะเขาไม่ใช่ทอม เพราะเขาข้ามมาแล้ว ควรให้เกียรติในส่วนที่เขาทำมาแล้ว ไม่ว่าเขาจะดูเหมือนผู้หญิง-ผู้ชายมากแค่ไหน ก็ไม่ควรไปรีแอค บางคนควรมองเป็นเรื่องปกติได้แล้ว
เราอยากให้ทุกคนในสังคมมีความรู้ความเข้าในในเรื่องนี้มากขึ้น อย่างบางทีเราลงในช่องทางโซเชียล ยังมีบางกลุ่มที่มาบอกว่า ทรานส์แมนคืออะไร ก็คือไอ้ทอมนั่นแหละ มันมีนะคะ ซึ่งเรามองว่าโอเค เขายังไม่มีความรู้ในตรงนั้น ก็ไม่เป็นไรพอมีคนถามปุ๊บก็จะมีหลายๆ คนเข้าไปตอบแทนเรา เราเลยรู้สึกว่าดีใจนะที่ตอนนี้มีคนมีความรู้ในส่วนนี้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เลยรู้สึกสบายใจที่มีเพื่อนมากขึ้น แล้วดีใจแทนพวกเขาด้วยที่พอคนรู้แล้วก็ให้เกียรติเขา
แพลนมีลูก แต่อยากมีเมื่อพร้อมจริง
จูน อารยา - มีแพลนไว้ค่ะ เพราะจริงๆ แล้วชอบเด็ก อย่างตอนนี้ก็มีลูกหมาลูกแมวอยู่ แต่ถามว่าเด็กชอบไหม ชอบ..อยากมีเหมือนกัน แต่เราจะต้องมองถึงตัวเราพร้อมที่จะมีลูกไหม เช่น ถ้าเกิดว่าเรายังมีภาระเยอะ ค่าใช้จ่ายที่เราหามามันยังไม่พอสำหรับอีกหนึ่งคนที่จะเกิดมา หรือเรายังไม่มีเวลา ยังรักสนุกกันอยู่ เราจะยังไม่มีเด็กก่อนเพราะว่าถ้าเกิดเราจะมีลูก เราจะต้องมีความพร้อมให้เขา 100% อันนี้คือสิ่งที่เราคิดไว้
ถ้าพูดกันตามตรงมันมีข่าวเยอะมากเลยนะคะ พ่อแม่ทิ้งลูกบ้างหรือเลี้ยงลูกไม่ดี คือพูดเลยว่าครอบครัว LGBTQ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี มันเป็นที่บุคคล เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเรามีลูกเราจะต้องเลี้ยงเขาให้ดีที่สุด ให้เขาพร้อมที่สุด ไม่ให้มีใครมาล้อเขาได้ว่าพ่อแม่เป็น LGBTQ แล้วครอบครัวมีปัญหา จะไม่มีทางเป็นแบบนั้น ก็เลยเป็นส่วนนึงที่ว่าเราจะต้องหาเงินได้จนเราไม่มีปัญหาที่จะดูแลใครเพิ่มอีกสักคนหนึ่ง อย่างทุกวันนี้เราก็ดูแลพ่อแม่ น้องสาว มีหมามีแมว เราดูแลหมดทุกคนแต่เรายังคิดว่าเรายังติดเที่ยวอยู่ ยังชอบไปต่างประเทศ ยังชอบเดินทางอยู่ แล้วมันก็ต้องมีเงินอีกกองนึงที่จะต้องเผื่อไว้ในอนาคตสำหรับเด็กที่จะเกิดมา เพราะฉะนั้นถ้าเรามองแล้วว่าเรายังไม่พร้อมขนาดนั้นเราก็จะยังไม่มี แต่ถามว่าถ้าเกิดโอกาสมันมาแล้ว เราทำแน่นอน เคยคิดว่าถ้าเรามีลูก ครึ่งนึงอาจจะหน้าตาเหมือนเรา แต่นิสัยเหมือนพ่อเขามันจะเป็นยังไง เราก็เคยวาดฝันแบบนั้นไว้ค่ะ
และนี่คือเสียงจากหัวใจคู่รักข้ามเพศ ทรานส์แมน-ผู้หญิง ที่สะท้อนความสำคัญของการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย สิ่งเติมเต็มชีวิตคู่ และการยอมรับที่ทำให้พวกเขารู็สึกปลดล็อกในชีวิตมากขึ้น
Advertisement