ชีวิตคู่ที่เกิดขึ้นเพราะการกดไลก์ของคู่รัก "ไทย-ไต้หวัน" สองชาติที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้อย่างเป็นทางการ สิ่งเติมเต็มชีวิตคู่ LGBTQ ให้สมบูรณ์แบบ
ราวกับพรหมลิขิต เพียงแค่กดไลก์ภาพในอินสตาแกรม ก็กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของคู่รัก ฑษ-ฑษวุฒิ รัตนกุญชร ชาวไทย และ ไบรอัน จากไต้หวัน อีกหนึ่งคู่รักที่ผ่านการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เป็นประเทศที่ 38 ของโลก เป็นชาติแรกของภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย ต่อจากไต้หวันและเนปาลที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้
ทั้งคู่เผยถึงเส้นทางความรักให้อมรินทร์ออนไลน์ฟังว่าเกิดขึ้นในอินสตาแกรม ก่อนจะลองคุยและศึกษาดูใจ จนวันนี้กลายมาเป็นคู่ชีวิตกันอย่างสมบูรณ์ โดยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นตัวคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของทั้งคู่
ฑษวุฒิ : เราเจอกันในอินสตาแกรมครับ ผมเห็นเขาลงรูปสวยดีเลยเข้าไปกดไลก์ครับ แต่ผมเองผมล็อกโปรไฟล์ไว้ เขาก็ส่งคำขอติดตามมา ผมก็ติดตามกลับ ก็เลยได้คุยกัน เขาบอกว่าจะมาเมืองไทยตอนสงกรานต์นะ แต่ผมไม่อยู่ไปญี่ปุ่น พอผมกลับมาก็เลยทักไปถามเขาอีกที เพราะเขาบอกจะกลับวันที่ 20 เมษายน แต่ว่าวันนั้นที่คุยกันวันที่ 19 ผมก็ถามเขาว่ากลับไปยังเขาบอกยัง แต่จะกลับวันนี้ ก็เลยถามเขาอีกว่าจะกลับยังไง เขาบอกจะไปแท็กซี่ ผมก็เลยบอกว่างั้นเดี๋ยวไปส่ง แล้วไปรับเขาที่โรงแรมไปส่งที่สนามบิน แล้วก็คุยกันมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะยังไม่ได้รู้จักอะไรกันเลยครับ ก็ได้คุยมาเรื่อยๆ แล้วเขาก็กลับไปไต้หวันแล้วไปเซี่ยงไฮ้ แยกย้ายกันไปทำงาน
ไบรอัน : ตอนนี้เราคบกันมาเกือบจะ 2 ปีแล้วครับ
ฑษวุฒิ : ช่วงก่อนตัดสินใจอยู่ด้วยกัน หลังจากที่คุยกันมาประมาณ 1 ปี โดยที่ตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่กรุงเทพ เขาทำงานอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เราก็คุยกันว่าเขาอยากย้ายมาอยู่เมืองไทย อยากมาทำงานที่เมืองไทย เพราะว่าอยู่ที่เซี่ยงไฮ้เหมือนทำงานหาเงินได้แต่ไม่ได้มีความสุขในการใช้ชีวิตเลย ซึ่งประเทศไทยและโดยเฉพาะกรุงเทพเป็นเมืองที่เขาอยากมาอยู่ มาแล้วก็มีความสุขทุกครั้งแล้วเขาชอบคนไทยด้วย เพราะคนไทยน่ารัก นิสัยดี เราก็เลยวางแผนกันว่าในปีถัดๆ ไปประมาณสักต้นปีนะ เดี๋ยวเราจะย้ายมาอยู่ที่นี่กัน แต่ก็เข้าใจว่าการที่อยู่ๆ จะย้ายมาทำงานเลย ก็เป็นเรื่องยากมากครับ เขาเลยมาเรียนภาษาไทยอยู่ประมาณ 4-5 เดือน อันนี้คือที่มาที่ทุกวันนี้มาอยู่เมืองไทย
ตลอดเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ได้เรียนรู้กันมากขึ้น ใช้เวลาปรับตัวอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ยากเลย 1 ปีที่คุยกันมาเราแทบจะไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเลย เพราะต่างคนต่างเป็นตัวของตัวเอง มันเลยปรับเข้าหากันได้โดยอัตโนมัติ อาจจะมีนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็คุยกันด้วยความเข้าใจ
ความประทับใจต่ออีกฝ่าย
ฑษวุฒิ : เขาเป็นคนพลังเยอะมากครับ ในที่นี้คือเวลาเขาตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง ที่ผมประทับใจที่สุดคือ เขาขยัน แล้วก็มุ่งมั่นในสิ่งนั้นสูงมาก กล้าเรียกได้ว่าเป็นคนนึงในชีวิตผมที่ตั้งใจทำสิ่งที่ตัวเองจะทำที่สุดเลย แล้วก็พยายามทำจนได้
ไบรอัน : เขาขยันทำงานมากๆ ครับ และหล่อครับ (หัวเราะ) แล้วตั้งแต่ที่เราอยู่ด้วยกันมาไม่เคยเห็นเขาโมโหเลยจนถึงวันนี้ครับ แต่กลายเป็นผมที่โมโหบ่อยๆ แต่เขาก็อดทนมาเสมอ
ประเทศไทยกับการมีสมรสเท่าเทียม
ฑษวุฒิ : จริงๆ ตั้งแต่เกิดพอโตมาปุ๊บ เรารู้ว่าความชอบเรามันไม่ได้เหมือนกับผู้ชายคนอื่น คือเลิกคิดเรื่องนั้นไปเลย ว่าวันนึงเราจะมีโอกาสจดทะเบียนสมรสกับคนที่เรารัก จนกระทั่งในช่วงวัยหนึ่ง มีข่าวเรื่องสมรสเท่าเทียมออกมาว่าเราพยายามผลักดันทุกคนให้เท่าเทียมกัน ส่วนตัวตอนนั้นคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะว่าความชอบของคนเรามันไม่ได้ถูกกำหนดแค่รูปร่างภายนอก มันเป็นเรื่องภายใน บางทีเราชอบคนนั้นคนนี้โดยที่รูปร่างไม่ได้ตรงกับสิ่งที่คนทั่วไปคิด เป็นแบบนั้น เช่นผู้หญิงต้องไปชอบผู้ชาย ผู้ชายต้องไปชอบผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งจริงๆ มันมีอะไรมากกว่านั้น แล้วพอจนวันนึงมีหลายภาคส่วนรวมถึงรัฐบาลหลายๆ ชุด ก็ช่วยกันผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้นมา
ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีแและน่าสนับสนุนมากเพราะว่า มีหลายๆ คู่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมานานมากโดยที่เขาควรจะมีสิทธิพื้นฐานทางด้านกฎหมายหรืออะไรก็ตามที่เขาควรจะได้รับสิทธิตรงนั้นไป อย่างเช่น บางทีการเจ็บป่วย อย่างที่เรารู้กันง่ายๆ บางทีถ้าเราป่วย คนที่เขาอยู่ด้วยกันนานๆ ควรจะมีสิทธิในการเซ็นเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเร็วและทันท่วงที
แต่พอมากับตัวเองมาถึงวันนี้ตอนแรกยังไม่ได้คิดถึงจุดนั้น แต่พอทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ก็เลยมานั่งคุยกันว่าถ้าสมมติวันนึงที่ประเทศไทยจดทะเบียนได้ เราอยากจดกันไหม เขาก็บอกว่าจด เพราะเราอายุมากกันแล้ว ปล่อยไปมากกว่านี้เราก็จะอายุมากขึ้นแล้วมันก็จะร่วงโรยไปมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นการอยู่กับใครสักคนนึง โดยที่เรารักและมันมีหลายๆ เรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องกัน แล้วมีเรื่องกฎหมายเข้ามาบวกในการคุ้มครองเราเป็นสิ่งพื้นฐาน จะเป็นเรื่องดีมากๆ แล้วผมก็เชื่อว่าอย่างไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เขาสามารถจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันได้ ผมคิดว่าไต้หวันก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในประเทศไทย แล้วก็ทุกภาคส่วนในประเทศไทย ร่วมผลักดันให้มันเกิดกฎหมายนี้
พอกฎหมายผ่าน ผมนับวันรอเลยครับ จริงๆ ตอนนั้นตื่นเต้น เพราะว่าได้จดแน่นอน แต่ยังไม่รู้ว่าจะจดทะเบียนกันวันไหนดี มีช่วงหนึ่งที่เขากลับไต้หวันแล้วเขาก็ไปดูหมอมาครับ บอกว่าเรามีแพลนจะจดทะเบียนสมรสกันนะ หมอดูก็เลยบอกว่ามาวันที่ 23 มกราคม โดยที่หมอดูเขาไม่ได้มีข้อมูลอะไรด้านนี้เลยว่าบ้านเราจดได้ ปรากฏว่าตรงกับวันแรกที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้ ก็เลยไปถามสำนักงานเขตหลายๆ ที่จนมาเจอที่พารากอน
ก่อนจดสักประมาณอาทิตย์สองอาทิตย์ ก็รู้สึกวิตกกังวล เพราะมันเป็นความคาดคิดที่เราคิดไปในอนาคตล่วงหน้า จนถึงจุดหนึ่งก็ตกผลึกว่าคิดไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำเราตกลงกันมาสักพักแล้ว ดังนั้นก็เดินหน้ากันต่อไป อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เราทำวันนี้ให้ดีที่สุด
ด้านไบรอัน เล่าว่าไต้หวันต่อสู้เพื่อกฎหมายนี้มาประมาณ 4 ปี กว่าจะผ่านมาได้ ส่วนตัวรู้สึกโชคดีที่มาจากไต้หวัน แล้วได้มาแต่งงานที่ประเทศไทย
เล็งจดทะเบียนสมรสที่ไต้หวันด้วย
ฑษวุฒิ : ตอนนี้เราจดแค่ที่ไทยที่เดียวครับผม แต่ว่ามีแพลนที่จะไปจดที่ไต้หวันด้วย แต่งานยังยุ่งกันอยู่ ต้องเตรียมเอกสารเยอะมาก ก็เลยอาจจะให้เขาไปแจ้งที่สถานทูตไต้หวันในประเทศไทยไว้ก่อน ว่าเราได้ทำการจดทะเบียนสมรสที่ประเทศไทยแล้วนะ คือแจ้งสถานะไว้ก่อนแล้วเราเตรียมเอกสารให้พร้อม มีวันหยุดที่มากขึ้น ก็จะบินไปจดที่ไต้หวันด้วยครับ
ไบรอัน : การจะทะเบียนสมรสที่ไต้หวันไม่ง่ายเลยครับ อาจจะลำบากนิดหน่อย คือต้องเตรียมเอกสารเยอะ ต้องประทับตราทั้ง 3 ภาษา (ภาษาไทย อังกฤษ จีน) ต้องไปแจ้งกระทรวงต่างประเทศของไต้หวัน แต่โชคดีที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการแต่งงานการจดทะเบียนสมรสอยู่ที่สยามพารากอนไว้เป็นหลักฐาน เลยไม่ต้องรอ สามารถไปลงทะเบียนไว้ได้เลย
ไม่คิดว่าประเทศไทยจะเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียมยิ่งใหญ่อย่างนี้
แม้ไต้หวันจะเป็นชาติแรกในเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้ แต่กลายเป็นว่าการแต่งงานที่ประเทศไทย สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับไบรอันเป็นอย่างมาก
ไบรอัน : การที่ผมได้มาจดทะเบียนที่ไทย ทำผมตื่นเต้นมากๆ ครับ คิดว่าจะจัดเงียบๆ ไม่คิดว่าจะตื่นตาตื่นใจมากอย่างนี้ เพราะตอนที่ไต้หวันมีแต่งงานครั้งแรกระหว่างเพศเดียวกันไม่มีการเฉลิมฉลอง แต่ที่ประเทศไทย มีการเฉลิมฉลองเยอะและยิ่งใหญ่มาก อยากขอบคุณกรุงเทพมหานครมากเลยครับที่มีกิจกรรมแบบนี้
ฑษวุฒิ : คือตอนที่ไต้หวันมีจดทะเบียนสมรสได้ ไม่ได้มีงานใหญ่ๆ อะไรแบบบ้านเราเลยครับ ไบรอันก็เลยตกใจ ตื่นตาตื่นใจมากที่มีงานมีกิจกรรมหลายอย่าง
ไบรอัน : ผมจำได้ว่าที่ไต้หวัน ตอนที่รัฐบาลอนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ต้องไปที่สำนักงานเขตเพื่อจดทะเบียน แค่นี้เท่านั้น ไม่มีการเฉลิมฉลอง แล้วที่ไต้หวันแต่งงานครั้งแรกมีแค่ชาย-ชาย แต่ที่ไทยผมเซอร์ไพรส์มาก มีคู่รัก หญิง-หญิง มาจดทะเบียนเยอะมาก
อนาคตคืออยากมีบ้านอยู่ด้วยกันไปจนแก่
ฑษวุฒิ : อนาคตอันสั้นที่มองไว้คือ ทำงานเยอะๆ ช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัว เมื่อก่อนผมไม่ค่อยชอบอยู่บ้าน แต่เขาอยากอยู่บ้าน เพราะที่ไต้หวันจะไม่มีบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโด แล้วเขาอยากมีบ้าน อยากเลี้ยงกระต่าย เลี้ยงแมว ก็คิดว่าจะดูเรื่องบ้านแล้วย้ายไปอยู่ด้วยกัน จะได้ดูแลกันไปครับ ผมคิดว่าชีวิตของเราไม่มีอะไรมาก การทำงานหาเงินมันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตคู่ แต่สิ่งสำคัญในชีวิตคู่คือการดูแลกันไป ทุกครั้งที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือมีปัญหาเกิดขึ้น เราจะก้าวข้ามผ่านจะจับมือกันไปยังไงได้บ้าง
ไบรอัน : เราอยากอยู่ด้วยกันไปสองคนอย่างนี้ครับ เรื่องลูกคือถ้าคิดจะมี ต้องใช้เงินเยอะมากๆ ผมอยากเลี้ยงแค่กระต่ายเท่านั้นครับ และสำหรับผมคิดว่าโชคดีที่ได้ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย ตอนอยู่ไต้หวันผมทำงานสอนเต้นอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ทุกวันมันเต็มไปด้วยความรีบเร่ง เหมือนเป็นหุ่นยนต์ ไม่มีเวลาพักผ่อน แต่พอมาอยู่ที่ประเทศไทย ผมมีเวลาพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น
ฑษวุฒิ : ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจนะครับ ว่าทำงานหนักๆ ของเขามันเป็นยังไง แต่พอรู้จักกันไปสักพักมันได้เห็นจริงๆ ว่าเขานอนไม่กี่ชั่วโมง ก็ต้องเด้งออกจากเตียง แต่งตัวไปทำงาน สอนเต้น ทำงานอีเวนต์ ทำโชว์ แป๊บๆ ก็หมดวันแล้ว อาจจะมีเจอเพื่อนได้บ้างนิดหน่อย ถึงเวลาก็ต้องกลับมานอน ผมเห็นอย่างนี้จริงๆ เรื่องการกินการอยู่เขาไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง เป็นอย่างนี้ทุกวันแทบจะไม่ได้หยุดเลย
ไบรอัน : จริงๆ คนไต้หวันชอบมาเที่ยวประเทศไทยมากครับ เพราะมาแล้วได้พักผ่อนจริงๆ เพื่อนของผมก็ชอบมา
ฑษวุฒิ : ที่รู้จักเขามาก็จะรู้ว่าต่างชาติมาไทยแล้วชอบทำอะไรบ้าง อย่างแรกเลยคือไปนวดครับ กินอาหารไทย ไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แล้วปิดจบท้ายวันด้วยการนวดอีกรอบ ไปซื้อของฝาก ที่เห็นประมาณนี้
การเปิดรับของคนในสังคมไทยดีกว่าไต้หวัน แม้จะเป็นชาติแรกในเอเชียที่มีกฎหมายนี้
ฑษวุฒิ : ผมมองว่าที่ประเทศไทยถ้าเทียบกับไต้หวันของไบรอัน ผมมองว่าคนในสังคมไทย เราค่อนข้างจะเปิดกว้างกับความชอบทุกๆ เพศ ทุกๆ แบบมาก ไม่เหมือนกับไต้หวัน ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกันได้ก็จริง แต่สำหรับคนบางกลุ่มยังไม่ได้เปิดรับอะไรตรงนี้เลย ซึ่งคนไทยเรารับรู้เรื่องพวกนี้มานานแล้ว เรื่องศาสนาก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่องสังคม เรื่องอะไรหลายๆ อย่าง ส่งผลให้เรารู้สึกว่าเราเปิดกว้างเรื่องนี้กันมาขึ้น แล้วก็ยอมรับเรื่องนี้กันมากขึ้น
สำหรับไต้หวัน ในกลุ่มคนยุคใหม่ผมคิดว่าเขาเปิดกว้างมากๆ เหมือนบ้านเราเลย แต่ด้วยความที่บ้านเขาสามารถมีกฎหมายรองรับในการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันก่อน ดังนั้น สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ผมมองว่า คนในไต้หวันเขาค่อนข้างจะกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิทธิที่เขาควรจะได้ เขาก็จะพูดตรงชัดเจนในสิ่งที่เขาต้องได้หรือควรจะได้
ส่วนคนรุ่นเก่า ในมุมที่ผมเคยเห็นคือ มีช่วงหนึ่งที่ผมขึ้นรถไฟที่ไต้หวัน คนที่เป็นผู้สูงอายุหน่อย บางคนก็จะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องพวกนี้ แล้วบางกลุ่มก็มีพูดแต่ผมไมค่อยเข้าใจ คือเขาก็มีชุดความคิดเดิม ประกอบกับคนไต้หวันและคนจีนคือพื้นฐานมาจากชนชาติเดียวกัน ดังนั้นเขาก็จะคิดและยึดความเป็นผู้ชาย-ผู้หญิงอยู่ คือรับรู้นะแต่ยังไม่ยอมรับ ในบางคนนะครับ ยังมีแบบนี้อยู่ แต่ถ้าเทียบกับบ้านเรา ประเทศไทยผมมองว่ากลุ่มผู้สูงอายุรุ่นพ่อรุ่นแม่ บ้านเราเปิดกว้างและยอมรับมากกว่า
สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไต้หวัน เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่รับรองการสมรสเพศเดียวกัน
โดยที่ก่อนหน้านี้มีการต่อสู้กันมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2560 หลังศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินว่า กฎหมายห้ามการแต่งงานของคู่ชีวิตที่มีเพศกำเนิดเดียวกันแต่งงาน ละเมิดหลักความเสมอภาคและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติจึงมีเวลาสองปีในการแก้ไขกฎหมายสมรสให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
แต่ทว่าความคืบหน้าของการนำกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันไปปฏิบัติ กลับต้องเจอการคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษนิยม จนผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไต้หวันต้องออกเสียงทำประชามติคัดค้านการเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายแพ่งเพื่ออนุญาตการสมรสเพศเดียวกัน และผ่านกฎหมายประกอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 748 ในปี 2562 ทำให้ไต้หวันกลายเป็นชาติแรกของเอเชียที่มีความก้าวหน้าในด้านความเท่าเทียมทางเพศ คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ตามกฎหมายและให้สิทธิเกือบเทียบเท่าคู่ชีวิตชายหญิง
แต่ทว่าก็ยังขาดสิทธิบางอย่าง เช่น อาทิ การสมรสของชาวต่างชาติในไต้หวัน อนุญาตเฉพาะคู่รักชาวต่างชาติที่มีสัญชาติของประเทศที่มีกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันแล้วเท่านั้น ส่วนการอนุญาตให้รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ก็จะต้องเป็นบุตรบุญธรรมที่มีสายเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
Advertisement