Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
คอลเซ็นเตอร์ครองเมือง! มิจฉาชีพโทรหา ส่ง SMS หลอกคนไทยสูงสุดในรอบ 5 ปี

คอลเซ็นเตอร์ครองเมือง! มิจฉาชีพโทรหา ส่ง SMS หลอกคนไทยสูงสุดในรอบ 5 ปี

26 ก.พ. 68
10:26 น.
แชร์

ภัยใกล้ตัว! เปิดสถิติปี 67 แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาละวาด โทรหา ส่ง SMS หลอกคนไทยสูงสุดในรอบ 5 ปี

Whoscall ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ป้องกันการหลอกลวงทางดิจิทัลส่วนบุคคล ซึ่งมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมหมายเลขโทรศัพท์ มากกว่า 2.6 พันล้านเลขหมาย ได้รับการยอมรับและความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยรายงานประจำปี 2567 วิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมา ผ่านการรายงานมิจฉาชีพ จากสายโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์ต่าง ๆ และฟีเจอร์ตรวจสอบข้อมูลรั่วไหล โดยระบุว่า

ปัจจุบันมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์อันตราย รวมถึง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา Whoscall ตรวจพบ สายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงสูงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปีของประเทศไทย ในส่วนของจำนวนการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 ขณะที่จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 กลโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม การแอบอ้างตัวเป็นหน่วยงาน และหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย การหลอกทวงเงิน การหลอกว่าเป็นหนี้ การชักชวนเล่นพนัน การปลอมเป็นบริษัทขนส่งพัสดุ

SMS ยังเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวงคนไทย

Whoscall ระบุว่ามีข้อความ SMS ที่เข้าข่ายการหลอกลวงมากถึง 130 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่ากลุ่มมิจฉาชีพยังคงใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ให้กดเข้าไปอ่านหรือกรอกข้อมูล เช่น ข้อความ SMS ที่หลอกให้กู้เงิน และโฆษณาการพนันยังคงพบมากที่สุด นอกจากนี้กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัลวอลเล็ต

ระวัง! ลิงก์อันตราย กดแล้วโดนดูดเงิน หรือขโมยข้อมูล

Web Checker ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใน Whoscall ซึ่งสามารถตรวจสอบลิงก์ที่น่าสงสัยและอันตรายบนเว็บบราวเซอร์ในระหว่างการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ในปีที่ผ่านมา ประเภทลิงก์อันตรายที่พบมากที่สุด เป็นลิงก์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูดเงิน หรือล้วงข้อมูลส่วนบุคคล 40% ส่วนลิงก์อันตรายที่เหลือเป็นลิงก์ที่เชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์ผิดกฎหมาย 30% และลิงก์อันตรายที่หลอกให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญจากอุปกรณ์อีก 30%

วิธีสังเกตลิงก์ปลอม ลิงก์อันตราย มีดังนี้

1. ตัวอักษรที่ผิดปกติ: ลิงก์ปลอมมักใช้ตัวอักษรที่คล้ายคลึงกับตัวอักษรจริงแต่มีความแตกต่างเล็กน้อย เช่น การใช้ตัวอักษร "0" แทน "O" หรือ "rn" แทน "m"

2. URL ที่ผิดสังเกต: ตรวจสอบ URL ให้ละเอียด บางครั้ง URL ปลอมอาจดูคล้ายของจริงแต่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น การเพิ่มหรือลดตัวอักษร หรือลงท้ายด้วยโดเมนที่ไม่คุ้นเคย

วิธีป้องกัน อย่าคลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่แน่ใจ ระวังลิงก์ที่ส่งมาทางอีเมลหรือข้อความโดยไม่ได้ร้องขอ และใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและมัลแวร์ที่ทันสมัย

ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปยังเว็บใต้ดินเพิ่มขึ้น

ในรายงานประจำปีครั้งนี้ยังได้เปิดเผยถึงปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรวจสอบผ่านฟีเจอร์ "ID Security" ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองได้ โดยผลการวิเคราะห์พบว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์กเว็บ และดีพเว็บ ในบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลพบว่า 97% เป็นอีเมล และ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลเช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อนามสกุล พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย

7 มุกยอดฮิต ของแก๊งมิจฉาชีพ เจอแล้ว เอ๊ะ! ไว้ก่อน

ตำรวจไซเบอร์ เผย 7 มุกยอดฮิต ของแก๊งมิจฉาชีพ ขอให้พี่น้องประชาชนมีภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ ว่ามีรูปแบบไหนบ้าง ที่เจอแล้วควรระมัดระวัง

1.หลอกให้โอนเงินไปตรวจสอบ

2.หลอกให้โอนเงินค่าดำเนินการ

3.หลอกให้โอนเงินเพื่อความบริสุทธิ์ใจ

4.หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล

5.หลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียม

6.หลอกให้โอนเงินเพื่อปลดล๊อกบัญชี

7.หลอกให้โอนเงินเพื่อซื้อสินค้า บริการที่ไม่มีจริง

Advertisement

แชร์
คอลเซ็นเตอร์ครองเมือง! มิจฉาชีพโทรหา ส่ง SMS หลอกคนไทยสูงสุดในรอบ 5 ปี