ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568 หรือกฎหมายห้ามตีเด็ก มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
โดยเนื้อหาระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตรให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
ประเด็นสำคัญของกฎหมายนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป)
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 1567 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ”
กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิเด็กและห้ามใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาสิทธิเด็กในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในแนวคิดของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กและส่งเสริมการเลี้ยงดูที่ปราศจากการใช้ความรุนแรง อีกทั้งยังเป็นการสร้างสังคมที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับเด็กทุกคน
Advertisement