เวลา 23.00 น. วานนี้ (30 มี.ค.68) กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ประกาศลดระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) กรณีเหตุแผ่นดินไหว ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สั่งการควบคุมและบัญชาการในพื้นที่
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวบนบกบริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ได้รับความเสียหายและก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง และรัฐบาลได้มีการประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยกรณีแผ่นดินไหว เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาด (ระดับ 3) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาแห่งชาติเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อควบคุมเหตุการณ์และบริหารจัดการสาธารณภัยในภาพรวมประเทศ
ขณะนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ประเมินสถานการณ์แล้ว เห็นว่าสถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นได้รับการแก้ไข ทั้งในด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและเส้นทางคมนาคม รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นยังคงมีการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้ในศักยภาพของพื้นที่อย่างเต็มกำลัง กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจึงได้ลดระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้สั่งการควบคุมและบัญชาการในพื้นที่จังหวัดและในกรุงเทพฯ ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดและผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ 2564 - 2570
นายภาสกร กล่าวต่อว่า เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกมิติที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจะยังคงติดตาม ประสาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว ขณะนี้ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีในขั้นตอนของการประเมิน สำรวจ จัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อพิจารณาช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์แก่ประชาชาชนได้ให้โดยเร็ว
นอกจากนี้ บกปภ.ช. ยังได้สั่งการเร่งด่วนให้กรุงเทพมหานครให้แจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารสามารถตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ 2522 ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคาร และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ของตัวอาคาร หากพบว่าอาคารมีสภาพไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มีคำสั่งแจ้งให้ดำเนินการแก้ไขทันที และกรณีฉุกเฉินที่พบว่าอาคารมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นอันตรายให้มีคำสั่งดำเนินการเพื่อบรรเทาเหตุที่จะเกิดอันตราย หรือห้ามไม่ให้ใช้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ กรณีเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรืออาคารนั้นเป็นพยานอันตรายอย่างร้ายแรงให้มีคำสั่งรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย และให้มีการรายงานผลการดำเนินงานให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จ
"ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะใช้ทุกสรรพกำลังเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยและได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จะได้ติดตามสถานการณ์และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ครอบคลุมทุกมิติและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ครบถ้วนทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว" อธิบดี ปภ. กล่าว
Advertisement