ศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผย “4 ประเภทรอยร้าวบนผนัง” บอกความเสี่ยงของอาคารได้ สัญญาณเตือนภัยต่อโครงสร้าง แต่ไม่ใช่ทุกรอยร้าวจะอันตราย !!
จากกรณีแผ่นดินไหวประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้ประเทศไทย รับรู้แรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด ประชาชนต้องอพยพออกจากอาคาร และหลายคนยังกลับเข้าที่พักอาศัยเช่น คอนโด ไม่ได้ เพราะมี รอยร้าวบนผนัง และความเสียหายอื่นๆ
ซึ่งเราจะแยกแยะ รอยร้าวบนผนัง ด้วยตนเองเบื้องต้นได้อย่างไร เพื่อความปลอดภัยของชีวิตหากต้องตกอยู่ในอาคารที่มีรอยร้าว เพจ Energy Environment Safety and Health (EESH) เผย “รอยร้าวบนผนัง” รายละเอียดแต่ละประเภทมีดังนี้
1. รอยร้าวเล็ก (Hairline Cracks)
ลักษณะ: ร้าวเส้นบาง ๆ ขนาดไม่เกินความกว้างของเส้นผมหรือบัตรเครดิต
ความเร่งด่วน: ต่ำ
มักเกิดจากการยืดหดตัวของปูนฉาบตามธรรมชาติ ไม่อันตราย แต่ควรสังเกตหากขยายตัว
2. รอยร้าวแนวตั้ง (Vertical Cracks)
ลักษณะ: ร้าวจากบนลงล่างตามแนวตั้ง
ความเร่งด่วน: ต่ำถึงปานกลาง
หากมีความกว้างเกิน 5 มม. ควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ เพราะอาจเกิดจากแรงดันของโครงสร้างหรือฐานราก
3. รอยร้าวแนวนอน (Horizontal Cracks)
ลักษณะ: ร้าวตามแนวนอนจากซ้ายไปขวา
ความเร่งด่วน: สูง
มักเป็นสัญญาณเตือนของแรงดันดินหรือปัญหาโครงสร้างที่ต้องรีบตรวจสอบโดยวิศวกรทันที
4. รอยร้าวแนวเฉียง (Diagonal Cracks)
ลักษณะ: ร้าวเฉียงทำมุม 30–70 องศา
ความเร่งด่วน: สูง
อาจเกิดจากการทรุดตัวของอาคารหรือการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักโครงสร้าง ต้องได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน
คำแนะนำ : หากพบรอยร้าวผิดปกติ โดยเฉพาะแนวนอนหรือเฉียง อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนซ่อมแซมอย่างถูกต้อง
Advertisement